สารวัตรกรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบห้องเย็นแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบเนื้อกระบือแช่แข็งลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน น้ำหนัก 47,550 กก.(47.55ตัน) มูลค่ากว่า 6.65 ล้านบาท มีความผิดตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เตรียมสืบสวนขยายผลหาเครือข่ายขบวนการลักลอบนำเข้าและจำหน่าย อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานทางลับจากกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ สืบทราบว่ามีห้องเย็นแห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยา ลักลอบนำเนื้อกระบือแช่แข็งจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเก็บไว้ แล้วทยอยส่งไปขายในหลายพื้นที่ เมื่อวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2563 จึงได้สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจบังคับใช้กฎหมายของกรมปศุสัตว์ จากกองสารวัตรและกักกัน ด่านกักกันสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบห้องเย็นดังกล่าว ผลการตรวจสอบ พบเนื้อกระบือแช่แข็งลักลอบนำเข้าล็อตใหญ่ น้ำหนักประมาณ 47,555 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 6,650,000 บาท จึงได้ยึดอายัดไว้เป็นของกลาง พร้อมทั้งดำเนินการร้องทุกข์ กล่าวโทษกับเจ้าของห้องเย็น ซึ่งเป็นเจ้าของซากสัตว์ดังกล่าว โดยแจ้งข้อหาในการกระทำความผิดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 นำซากสัตว์เข้าราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 นำซากสัตว์ไปยังท้องที่จังหวัดอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้จะมีการสืบสวนเพื่อขยายผลหาเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายอย่างต่อเนื่องด้วย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต กล่าวต่อไปว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นหนึ่งในมาตรการที่เข้มงวดของกรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่อาจแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย โดยการตรวจพบเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือสถานที่ผลิต ไม่มีเอกสารหลักฐานที่ผ่านการตรวจสอบจากพนักงานตรวจโรคสัตว์ และหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้มีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคระบาดปะปนมากับเนื้อสัตว์และไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศด้วย สารวัตรกรมปศุสัตว์จึงได้ทำการอายัดเนื้อกระบือแช่แข็งทั้งหมด เพื่อทำการตรวจสอบแหล่งที่มาให้แน่ชัด อีกทั้งได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเป็นการเฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดอีกด้วย
กรมปศุสัตว์มีความตระหนักถึงการป้องกันเชื้อโรคระบาดสัตว์จากต่างประเทศ ซึ่งอาจติดมากับสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) ที่เป็นพาหะของโรคระบาด และมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชนทั่วไป โดยสินค้าปศุสัตว์ทุกชนิดที่นำมาจำหน่ายต้องได้รับการตรวจรับรองเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) ที่ถูกลักลอบนำเข้าราชอาณาจักรมานั้น อาจมาจากต้นทางที่เป็นแหล่งของโรคระบาดสัตว์ และไม่มีการควบคุมการผลิต รวมถึงไม่ได้รับการตรวจรับรองใดๆ ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์มีมาตรการเข้มงวดจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) ดังนี้
- กรมปศุสัตว์อนุมัติโครงการเข้าตรวจสอบสถานที่พักซากสัตว์ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าซากสัตว์จากต่างประเทศ และนำมาซุกซ่อนไว้ตามห้องเย็นต่างๆ
- กรมปศุสัตว์ ทำหนังสือขอความร่วมมือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือในการป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
- กรมปศุสัตว์จัดทำเครื่องหมายประจำตัวสำหรับซากสัตว์ที่นำเข้า เพื่อใช้ตรวจสอบซากสัตว์ ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าดังกล่าวได้ จึงทำให้แยกแยะกับซากสัตว์ที่ลักลอบนำเข้าได้ ง่ายต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
- ชุดปฏิบัติงานสุนัขดมกลิ่นตรวจสอบการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ในพื้นที่สนามบินทุกแห่ง เพื่อตรวจสอบผู้โดยสารที่นำซากสัตว์เข้าราชอาณาจักรอย่างผิดกฎหมาย ด้วยวิธีการ Hand Carry โดยมีผลการปฏิบัติงานยึด อายัดซากสัตว์
- กรมปศุสัตว์ได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายในความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ โดยหน่วยปฏิบัติการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการลักลอบนำเข้าเนื้อโค-กระบือจากต่างประเทศได้ทั่วราชอาณาจักร
- กรมปศุสัตว์ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 สำหรับการแจ้งข้อมูลข่าวสารและเป็นช่องทาง รับข้อร้องเรียน โดยผู้ที่มีข้อมูลการลักลอบนำเข้าเนื้อโค-กระบือจากต่างประเทศ สามารถแจ้งข้อร้องเรียนดังกล่าวมายังกรมปศุสัตว์เพื่อดำเนินการต่อไป
หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายด้านปศุสัตว์ สามารถแจ้งเบาะแส ที่กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ โทรศัพท์ 02 501 3473-5 หรือแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่ดาวน์โหลดและติดตั้งได้ในโทรศัพท์ทุกระบบ
————————————————-
ข้อมูล : กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์