คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เห็นชอบ มาตรการลดโอกาสการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าประเทศ และชะลอการระบาดภายในประเทศ ตามแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคีเพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติครั้งที่ 3/2563 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการจากทุกกระทรวง ว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนและเจ้าหน้าที่จากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ติดตามการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ตั้งแต่เริ่มมีรายงานการระบาดในประเทศจีน ขณะนี้ สถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 พบผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อในประเทศจากการสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงต้องมีการเตรียมพร้อมในการรับมือหากเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการระบาดในวงกว้างในประเทศ ซึ่งได้มีแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคี เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้แล้ว
นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อ ในวันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ 2 มาตรการ คือ 1.ลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทยและชะลอการระบาดภายในประเทศ โดยการคัดกรอง เฝ้าระวังผู้ป่วยที่ด่านช่องทางเข้าระหว่างประเทศ จัดระบบการคัดกรองที่สถานพยาบาลทุกแห่งแบบ One Stop Service และเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชน ในคนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อ ได้แก่ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรมสถานที่ท่องเที่ยว เฝ้าระวังการป่วยในบุคลากรสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ดำเนินการอยู่แล้ว และเตรียมมาตรการรองรับการระบาดในระยะที่ 3 จะเน้นการควบคุมการระบาดในชุมชน “แยก หยุด เลี่ยง ปิด” โดยให้จัดสถานที่แยกผู้มีอาการทางเดินหายใจในโรงพยาบาลให้เพียงพอ ส่งเสริมการแยกสังเกตอาการที่บ้าน ให้ผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจหยุดงานหยุดเรียน การทำงานกำหนดมาตรการทำงานที่บ้าน หลีกเลี่ยงงานชุมนุมขนาดใหญ่ การปิดสถานที่ที่มีการระบาดและควบคุมการระบาดในพื้นที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร รวมทั้งพิจารณาประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อควบคุมการระบาดในชุมชน
2.มาตรการเพื่อให้คนไทยปลอดภัยจากโรค โดยให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมการรักษาพยาบาลร่วมกับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก กำหนดและจัดทำแผนจัดการพื้นที่ดูแลรักษาผู้ป่วย จัดหาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้เพียงพอ พัฒนาห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลจังหวัดและสังกัดอื่น ๆ เพื่อลดระยะเวลาในการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ในบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทั้งนี้ มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการ และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป