เปิดงาน ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ ครั้งที่ 3 ชวนเข้าใจ ‘การตายดี’ ดันเครือข่ายพื้นที่ดูแล ‘ผู้ป่วยระยะสุดท้าย’

เปิดงาน ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ ครั้งที่ 3 สช. จับมือเครือข่ายยกระดับความเข้าใจสิทธิการตายตามธรรมชาติและการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพฯ ด้าน สธ. เตรียมผลักดันหน่วยบริการแบบประคับประคองใน รพ.- ศูนย์บริการปฐมภูมิในพื้นที่

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ฯ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จับมือองค์กรภาคีกว่า 10 หน่วยงาน ร่วมจัดงาน ‘สร้างสุขที่ปลายทาง’ ครั้งที่ 3 เพื่อยกระดับการรับรู้ของสังคมต่อการสร้างสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิตตามเจตนารมณ์ของ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และขับเคลื่อนสู่ระบบบริการสุขภาพในระดับพื้นที่

ทั้งนี้ มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ได้รับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง พร้อมทั้งคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลที่ได้ทำหนังสือแสดงไว้ ให้ถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดและพ้นจากความรับผิดทั้งปวง

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรับรู้ของประชาชนรวมถึงบุคลากรด้านสาธารณสุขในเรื่องการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย (palliative care) และสิทธิการตายตามธรรมชาติ ยังมีอยู่จำกัด เพราะองค์ความรู้เหล่านี้เพิ่งเริ่มมีในประเทศไทยไม่นานนัก อีกทั้งการขับเคลื่อนต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากหลายฝ่าย จึงมีการจัดเวทีนี้ขึ้นเพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการแนวทางการทำงานและนำไปสู่การขยายผลพัฒนาองค์ความรู้ต่อไปในระยะยาว รวมถึงสนับสนุนให้เกิดกระบวนการการสื่อสารทางสังคมเพื่อยกระดับการรับรู้ของสังคม

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งระบุถึงสถานการณ์ที่นำมาซึ่งความจำเป็นในการผลักดันเรื่องนี้ว่า ปี 2563 ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวน 11.13 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 16.73 ของประชากรทั้งหมด อีก 4 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 และจะนับเป็น ‘สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์’  นอกจากนี้ผู้ป่วยเรื้อรังก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ นักวิชาการคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านสาธารณสุขและสังคมให้มีความเข้าใจในการดูแลแบบประคับประคองเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต บำบัด เยียวยา และบรรเทาความทุกข์แก่ผู้ป่วยทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม จิตวิญญาณ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนกระทั่งเสียชีวิต โดยครอบคลุมถึงครอบครัวของผู้ป่วยด้วย

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวอีกว่า หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 12 ที่ผู้ป่วยจัดทำไว้ล่วงหน้า จะเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้การรักษาให้มีความเข้าใจตรงกันในความต้องการของผู้ป่วยเมื่อไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว ทำให้บุคลากรในระบบสุขภาพสามารถวางแผนการรักษาล่วงหน้า โดยมีการพูดคุยกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ อีกทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่จำเป็นรวมถึงภาระงานของบุคลากรสาธารณสุข ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายสนับสนุนเรื่องการดูแลแบบประคับประคองผ่านแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยมีกรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน

ปัจจุบัน สามารถขยายงานไปยังเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ โดยมีการอบรมให้บุคลากรด้านสาธารณสุขมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ พัฒนาระบบการเข้าถึงยากลุ่ม Opioids พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเพื่อสนับสนุนเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง ส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือชุมชนเพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล โดยทีมหมอครอบครัวและคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) บูรณาการการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ กล่าวต่อไปถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการดูแลแบบประคับประคองว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 5 อันดับแรก คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็งและเนื้องอก หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการเข้าถึงยาบรรเทาอาการปวดจำพวกมอร์ฟีนที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานนั้นมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 20 ที่เข้าถึง ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพการดูแลแบบประคับประคอง โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

“กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายให้ระบบบริการดูแลแบบประคับประคองเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบสุขภาพ (Service Plan) เพื่อเป็นกรอบและแนวทางพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานในการดูแลวาระท้ายของชีวิตของประชาชนชาวไทย รวมทั้งมีนโยบายการพัฒนาสุขภาพปฐมภูมิเพื่อสนับสนุนการดูแลแบบประคับประคอง และส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงวาระสุดท้าย ลดความแออัดของโรงพยาบาล และลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลให้แก่ครอบครัว” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ทั้งนี้ มาตรา 12 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันให้นโยบายการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะท้ายขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้มากขึ้นไม่ว่าในหน่วยบริการหรือชุมชน ซึ่งงานสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 20– 21 กุมภาพันธ์ 2563 มีกิจกรรมและการเสวนาเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองและสิทธิการตายตามธรรมชาตที่น่าสนใจ อาทิ

  • การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ กรณีบ้านปันรัก โดย อาจารย์อ้อย ดร.กมลพร สกุลพงศ์
  • การดูแลจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้ดูแล โดย แม่แอ้-คุณพรวรินทร์ นุตราวงศ์
  • การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน โดย คุณอภิชญา วรพันธ์
  • เสวนา “การเตรียมชีวิตในวาระสุดท้าย มุมมองสายศิลปิน” โดย คุณศุ บุญเลี้ยง ศิลปิน/นักเขียน และ คุณเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Die Tomorrow
  • การสร้างความหวังและความสุขในชีวิตระยะสุดท้าย โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร
  • บอกข่าวร้ายอย่างไรให้น่าฟัง โดย นาวาเอก นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์
  • การรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ในวาระสุดท้ายของชีวิต โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์
  • ปาฐกถาปิด “สร้างสุขที่ปลายทางของชีวิต” โดย ดร.นพ.มโน เลาหวณิช

สำหรับผู้สนใจร่วมงาน หรือศึกษาแนวทางการเขียนหนังสือเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailivingwill.in.th Facebook : สุขปลายทาง หรือ โทร 0 2832 9100