นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะผู้แทนคณะมนตรีองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR) Council) ของประเทศไทย ถึงการเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม หรือคณะมนตรีแอปเทอร์ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2563 ณ เมืองพุกาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยการประชุมครั้งนี้ ได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานและงบประมาณประจำปี 2563 ของ APTERR และมีประเด็นสำคัญในการกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกพิจารณาการใช้ประโยชน์จากกลไก APTERR ตลอดจนเริ่มพิจารณาทบทวนปริมาณข้าวสำรองให้เหมาะสมกับความต้องการการบริโภคในภาวะวิกฤติ
โอกาสนี้ เลขาธิการ สศก. ได้เสนอให้ APTERR พิจารณาเพิ่มปริมาณข้าวสำรองในประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามในรูปสัญญา (Earmarked Stock) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคในคน พืช และสัตว์ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น การติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall Army worm) ตั๊กแตนทะเลทราย (Desert Locust) และการระบาดของโรคอหิวาต์อัฟริกาในสุกร (African Swine Fever) รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น ตลอดจนปริมาณความต้องการบริโภคตามจำนวนประชากรในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณข้าวสำรองรวมของภูมิภาคในการซื้อขายข้าวเพียง 7.87 แสนตัน จากการใช้ตัวเลขราคาอ้างอิงมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว
นอกจากนี้ ยังเสนอให้สำนักเลขานุการ APTERR ทำงานใกล้ชิดกับ FAO ในแง่มุมของความมั่นคงอาหารภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการอาหารโลก (Committee on Word Food Security: CFS) ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันกลไกและเพิ่มบทบาท APTERR ให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกับนโยบาย ในเรื่องความมั่นคงอาหาร การบรรเทาความยากจน และการขจัดความหิวโหย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ความตกลง APTERR
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ไทย ในฐานะประเทศที่ตั้งของสำนักเลขานุการ APTERR ได้จัดเตรียมสถานที่ทำงานใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้นสำหรับสำนักเลขานุการ APTERR ณ อาคารนวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยยินดีที่จะให้ความสนับสนุนที่ไม่ใช่เงิน (In-kind contributions) และยังคงสนับสนุนให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก รวมถึงมีส่วนร่วมในการระบายข้าวของไทยในฐานะประเทศผู้ขายข้าว (Supplying Country) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่ที่ APTERR เริ่มดำเนินงานปี 2556 เป็นต้นมา นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยประเทศต่างๆ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไทย มาเลเซีย ได้ร่วมบริจาคข้าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่า 24,000 ตัน แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความยากจนในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และไทย มากถึง 3,745,228 คน และหากรวมโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือได้เพิ่มถึง 4,016,687 คน จึงมั่นใจได้ว่า การเพิ่มปริมาณข้าวสำรองในประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม จะนำไปสู่ความมั่นคงอาหาร และสร้างสมดุลราคาข้าวให้มีเสถียรภาพได้ยั่งยืนอย่างแน่นอน