18 กุมภาพันธ์ 2563, ทำเนียบรัฐบาล –กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นำคณะดิจิทัลสตาร์ทอัพเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หวังเป็นส่วนช่วยยกระดับภาคการศึกษาไทย พร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ นางสาวกษมา กองสมัคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำดิจิทัลสตาร์ทอัพจาก 4 บริษัทจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) เสนอต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมบอกเล่าคุณประโยชน์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้สอนและผู้เรียน โดยดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย
- Globlish แพลตฟอร์มการเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพและหลากหลาย
- Inskru แพลตฟอร์มชุมชนสำหรับครูผู้สอนในการแลกเปลี่ยนไอเดียการสอน เพื่อเปลี่ยนแปลงห้องเรียนให้มีความสุขและมีคุณภาพ
- Sati บริการฝึกขับรถขนาดใหญ่เสมือนจริง โดยการใช้ Digital Content ให้ผู้ฝึกได้รับการฝึกก่อนขับจริง เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มสมรรถนะและฝีมือแรงงาน
- Skooldio แพลตฟอร์มพัฒนาทักษะ เพื่อสร้างสรรค์บุคลากรด้านเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในยุคดิจิทัล
นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาคือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับระบบการเรียนการสอน หรือแม้แต่การทำงานของครูผู้สอน อาทิ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจข้อสอบ หรือจัดการงานเอกสารจำนวนมาก โดยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับภาคการศึกษา ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และแวดวงการศึกษาของไทยให้มีประสิทธิภาพ ก้าวทันต่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Disruption)
ขณะที่ ดร.กษิติธร กล่าวว่า เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาถือเป็นนวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนไทยจากอดีตสู่ยุคดิจิทัล โดยเชื่อมโยงผู้สอนและผู้เรียนให้เข้าถึงกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว หากได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจะถูกนำมาใช้ในวงกว้าง และจะทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการศึกษาไทย โดยผลงานของดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 4 รายถูกพัฒนาโดยคนไทย เพื่อคนไทย และพร้อมต่อยอดสู่ระดับสากลต่อไป
ด้าน ดร.ชินาวุธ กล่าวว่า ดิจิทัลสตาร์ทอัพสาขาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่เข้านำเสนอผลงานต่อนายกรัฐมนตรีในวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้รับการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาต่อยอดธุรกิจภายใต้มาตรการส่งเสริมของดีป้า เพื่อให้เกิดดิจิทัลสตาร์ทอัพสาขาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาสัญชาติไทย ซึ่งดีป้าจะส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาด ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งมุ่งหวังให้เป็นแพลตฟอร์มการศึกษาในยุคดิจิทัลสำหรับคนไทย ส่งเสริมให้มีการ Reskill และ Upskill เพื่อให้เกิดทักษะใหม่ที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ดีป้าจะนำผู้บริหารดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (TravelTech) เข้านำเสนอโซลูชันต่อนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง