วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ (Technical Working Group – TWG) ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum – SEANF) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ณ โรงแรม เบสต์ เวสเทิร์น พลัส แวนดา แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี โดยระบุว่าปัจจุบัน SEANF มีสมาชิกประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจาก ๖ ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และติมอร์ – เลสเต สำหรับผลสำเร็จของการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ ความพยายามในการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการถาวรของ SEANF (SEANF Permanent Secretariat) ซึ่งการประชุมที่ผ่านมาที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบข้อบังคับการดำเนินงานของ SEANF (SEANF Rules of Procedure) ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมและได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ ๑๔ ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ แล้ว เพื่อเสนอให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Komnas HAM) ดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสำนักงานที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศและมีสถานที่ตั้งในอินโดนีเซียต่อไป
ประธาน กสม. กล่าวว่า ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ของ SEANF ครั้งที่ ๒ นี้ ที่ประชุมจะได้รับทราบและหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง SEANF กับสมาคมป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture – APT) และสถาบันราอูลวอลเลนเบิร์กว่าด้วยกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม (Raoul Wallenberg Institute of Human Rights and Humanitarian Law – RWI) ในประเทศสวีเดน โดยในส่วนของการจัดกิจกรรมร่วมกับสถาบัน RWI นั้น ที่ประชุม TWG ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่ในการประสานงานการจัดสัมมนาร่วมกับสถาบัน RWI ในหัวข้อ “การละเมิดสิทธิมนุษยชนและผลกระทบข้ามพรมแดน : การแก้ไขปัญหาช่องว่างของการคุ้มครองโดยผ่านกลไกความรับผิดชอบนอกอาณาเขต” (Human Rights Violations and its Cross-border Effect : Addressing the protection gap through extraterritorial obligations – ETOs) ซึ่งมีกำหนดการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ โรงแรมโนโวเทล เพลินจิต ถนนสุขุมวิท และสำหรับการจัดกิจกรรมร่วมกับสมาคมป้องกันการทรมานนั้น นางสาว Shazeera Zawawee ผู้แทนของสมาคมป้องกันการทรมานจะได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย เพื่อนำเสนอภาพรวมและหารือแนวทางในการจัดทำโครงการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิก SEANF ในการใช้ความพยายามเพื่อป้องกันการทรมานในรูปแบบของการจัดทำแนวปฏิบัติของ SEANF ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน (SEANF Guidelines on Torture Prevention) ซึ่งประธาน กสม. ได้ถือโอกาสนี้เน้นย้ำว่า ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนโดยภาคธุรกิจและการป้องกันการทรมาน ถือเป็นประเด็นที่เป็นความสนใจร่วมกันของสมาชิก SEANF พร้อมทั้งคาดหวังว่ากิจกรรมทั้ง ๒ โครงการที่จัดร่วมกันกับสมาคมป้องกันการทรมานและสถาบัน RWI จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก SEANF
ท้ายสุด ประธาน กสม. ในฐานะประธานของ SEANF กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะรวบรวมข้อคิดเห็นของสมาชิก SEANF เพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights – UDHR) และการประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ ๑๕ ในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ โดยในส่วนของการจัดกิจกรรมในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของการรับรอง UDHR ผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเสนอให้มีการจัดการสัมมนาครึ่งวัน (half-day seminar) ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน : ปัจจัยสำคัญเพื่อการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Human Rights : Enabling Factor to Achieving SDGs) เพื่อเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ของสิทธิมนุษยชนที่เป็นปัจจัยในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้สมาชิกของ SEANF ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทและจุดยืนของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีต่อเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF ปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ด้วย และสำหรับการประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ ๑๕ นั้น ผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเสนอให้กำหนดหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Human Rights and SDGs) เป็นหัวข้อหลักของการประชุม เนื่องจากเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั้งจากกลไกของสหประชาชาติและกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งประเด็นสิทธิมนุษยชนยังสามารถบูรณาการเข้ากับเป้าหมายและตัวชี้วัดที่หลากหลายของ SDGs อีกด้วย
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ