กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรม “กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายร่วมใจ ตรวจสภาพรถยนต์ รณรงค์ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5” ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก และสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ เพื่อลดมลพิษ ลดแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม “กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายร่วมใจ ตรวจสภาพรถยนต์ รณรงค์ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5” ณ บริเวณที่จอดรถด้านข้างพิพิธภัณฑ์ อาคาร 3 ชั้น 1 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้กำหนด 12 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งหนึ่งในมาตรการนั้น คือ ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน โดยกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการดูแลส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี จึงมีนโยบายตามข้อสั่งการเร่งด่วนของรัฐบาล ช่วยแก้ปัญหามลพิษอากาศของประเทศเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศ และ ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ โดยได้กำหนดมาตรการ 100 เปอร์เซ็นต์ ของรถยนต์ราชการ หน่วยงานส่วนกลาง กระทรวงสาธารณสุข ให้ได้รับการตรวจสภาพรถยนต์และผ่านมาตรฐานควันดำ
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รับความร่วมมือจากสมาคมเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่ง ประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ เปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวศึกษาร่วมกับทีมจิตอาสา PM 2.5 ออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการตรวจสภาพรถยนต์ พร้อมให้คำแนะนำในการบำรุงรักษารถยนต์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมการขนส่งทางบก ร่วมดำเนินกิจกรรม “กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายร่วมใจ ตรวจสภาพรถยนต์ รณรงค์ลดปริมาณฝุ่น PM2.5” เพื่อลดมลพิษและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข มีรถยนต์ราชการเครื่องยนต์ดีเซลทั้งสิ้น 420 คัน โดยจะขยายผลการดำเนินงานไปยังหน่วยงานส่วนภูมิภาคในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้เป็นองค์กรต้นแบบรณรงค์ลดฝุ่น PM 2.5 ต่อไป” ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2563 พบว่า ร้อยละ 72.5 ของฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครมาจากการจราจร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยการอัดการสันดาปจึงมักไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดเขม่าควันดำหรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะมลพิษที่เกิดจากควันไอเสียรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่า และเกิดจากสภาพอุตุนิยมวิทยา อากาศปิด ภาวะลมสงบ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้การสะสมของฝุ่นละออง หมอกควันในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ ดังนั้น การจัดกิจกรรมในวันนี้ถือเป็นความพยายามที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากแหล่งกำเนิด เพื่อให้รถยนต์ราชการของกระทรวงสาธารณสุข และรถยนต์ ส่วนบุคคลที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ได้ดูแลปรับปรุงสภาพรถยนต์ให้ได้มาตรฐานเพื่อลดการปล่อยฝุ่น PM 2.5 รวมทั้ง สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขหันมาใช้การขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว เพื่อช่วยลดปริมาณ การเกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง