กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานด้านสุขาภิบาลอาหาร มุ่งเป้ากลุ่มเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบกิจการด้านอาหารผู้สัมผัสอาหาร และกลุ่มผู้บริโภค เพื่อพัฒนาสถานประกอบกิจการด้านอาหารให้ได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ ผู้บริโภค
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายด้านสุขาภิบาลอาหาร ประจำปี 2563 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนงานด้านวิชาการเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนให้ได้บริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัย โดยดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขาภิบาลอาหาร เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินงานสุขาภิบาลอาหารร่วมกับภาคีเครือข่าย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) เจ้าหน้าที่ 2) ผู้ประกอบกิจการด้านอาหารและผู้สัมผัสอาหาร และ 3) กลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการอาหารเป็นกลุ่มที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสุขาภิบาลอาหาร เนื่องจากเป็นผู้ที่ต้องพัฒนาสถานประกอบการไม่ว่าจะเป็นตลาดสด ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร และ Food Truck ให้ถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหาร เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและเป้าหมายที่ภาครัฐ กำหนดไว้ ดังนั้น ภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการอาหารจึงต้องมีความรู้เท่าทันกับกฎหมาย สถานการณ์และเทคโนโลยีด้านอาหาร ตลอดจนนโยบายการดำเนินงานทางด้านสุขาภิบาลอาหารและโภชนาการ มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนอกจากมุ่งเน้นที่ความสะอาด ความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการแล้วยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพร่างกายของประชาชนด้วย
“ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งจำหน่ายที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น มาตรฐาน “ตลาดสด น่าซื้อ” การปรุง ประกอบอาหารที่ ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ Clean Food Good Taste และลดหวาน มัน เค็ม โดยการขับเคลื่อนผ่านทางชมรมฯ สมาคม ผู้ประกอบการค้าอาหาร การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายด้านสุขาภิบาลอาหาร โดยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนและยกระดับการดำเนินงานสุขาภิบาลในระดับพื้นที่ ลดความเสี่ยงประชาชนที่จะได้บริโภคอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค และสารเคมีที่เป็นพิษจากทั้งวัตถุดิบอาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร อันอาจจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษให้น้อยลง และเนื่องจากขณะนี้กรมอนามัยได้มีการรณรงค์เฝ้าระวังโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) ในทุกสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหารหมั่นเช็ดทำความสะอาดจุดสัมผัส เช่น บริเวณโต๊ะอาหาร เก้าอี้ และดูแลความสะอาดของห้องส้วม หากมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ไอ จาม ให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน และหากพบมีไข้สูงให้รีบไปพบแพทย์ทันที” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว