กรมการแพทย์ห่วงใยผู้สูงอายุแนะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโรคแทรกซ้อน

กรมการแพทย์แนะกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของโรคและอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่จะเกิดตามมา

นายแพทย์ปานเนตร  ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคพบบ่อยในทุกกลุ่มอายุ แต่ระบาดมากในฤดูฝน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิต้านทานน้อยอาจมีอาการแทรกซ้อน บางรายถึงขั้นเสียชีวิต การติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย แพร่กระจายไปยังบุคคล บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อน เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์  เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของโรคและอาการแทรกซ้อน แนะ 7 กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ 1. หญิงที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หอบหืด ไตวาย  หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน  4. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 7. ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม ซึ่งสามารถรับบริการได้ทุกสิทธิการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2561 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับจะครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่ รวม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 1. ชนิด A (H1N1) 2. ชนิด A (H3N2) 3. ชนิด B โดยมีผลในการป้องกันร้อยละ 60 – 70

นายแพทย์ประพันธ์  พงศ์คณิตานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการป่วยมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดโดยมีไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลังต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบอาจทำให้หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ และเสียชีวิตได้  สำหรับการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ แต่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง ดังนี้ นอนหลับพักผ่อนในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ไม่ควรออกกำลังกาย ดื่มน้ำเกลือแร่หรือ น้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ หากมีไข้ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ถ้าไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์