กรมอนามัย ชวน คนไทย ‘กอด’ ส่งต่อความรัก สร้างกำลังใจ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนคนไทยถ่ายทอดความรัก สร้างกำลังใจ ให้กับคนในครอบครัว เพื่อน และคนรักในทุก ๆ วัน ด้วยการ “กอด” กระตุ้นความรู้สึกดี ๆ ช่วยเยียวยาจิตใจให้กับผู้สูงอายุ

นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงที่สังคมไทยเกิดปรากฏการณ์ทั้งทำร้ายตนเอง และทำร้ายคนอื่น ซึ่งเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ จนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออายุขัยเฉลี่ยคนไทยที่อาจไม่บรรลุเป้าหมาย 85 ปีนั้น  การสังเคราะห์ความรู้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับสังคมไทยนับเป็นหน้าที่สำคัญของกรมอนามัย ซึ่งจากข้อมูลมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มคนจำนวน 724 คน ระยะเวลา 75 ปี พบว่าปัจจัยที่ทำให้คนอายุยืนที่สำคัญคือปฏิสัมพันธ์ของคนเรา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจัยนี้ ย่อมส่งผลต่อการลดโรคซึมเศร้าและความก้าวร้าวต่อคนอื่น สำหรับในประเทศไทยตัวอย่างของการสร้างสัมพันธภาพที่ช่วยทั้งลดความแข็งกร้าวของจิตใจและช่วยเพิ่มความเข้มแข็งเมื่อจิตใจอ่อนแอ กรณีศึกษาของ ครูสงวนวรรณ บัวบาน ครูศิลปะประจำหอศิลป์บัวบาน ตำบลสะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ที่นำศาสตร์ทางด้านศิลปะมาใช้รักษาอาการซึมเศร้าในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งพบว่านอกจากจะสามารถลดความก้าวร้าวในตัวตนได้แล้ว เมื่อนำการกอดมาใช้ร่วมกันยิ่งทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ส่งผลต่อจิตใจ ทำให้ผู้ที่ได้รับการกอด มีความอ่อนโยนขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ

นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อไปว่า  การบอกรักด้วยการกอดจะทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของฮีโมโกลบิน ทำให้การลำเลียงของออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ  ให้ทำงานได้อย่างทั่วถึง ทำให้สดชื่น มีชีวิตชีวา และการกอดยังเป็นการกระตุ้นสัมผัสที่จำเป็นอย่างยิ่ง  ต่อร่างกายและจิตใจ ที่ช่วยให้ผู้ถูกกอดรู้สึกอบอุ่นและเป็นสุข ซึ่งผู้ที่ได้รับการกอดหรือกอดผู้อื่น  จะช่วยทำให้เกิดความกระตือรือร้น บรรเทาความเจ็บป่วย ซึมเศร้า ความวิตกกังวล การกอดไม่ได้จำกัดขอบเขตเพียงกับเด็กหรือระหว่างหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ผู้สูงอายุก็ยังต้องการการโอบกอด เพราะการกอดเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมความรู้สึกอ้างว้างภายในจิตใจได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะสุขภาพดีขึ้น

“ทั้งนี้ การหันมาสร้างความรักด้วยการกอดระหว่างคนในครอบครัว ความรักระหว่างเพื่อน และคู่รัก นับเป็นสัมผัสที่มีความพิเศษ ตามคำแนะนำของเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ นักจิตวิทยาครอบครัวที่มีชื่อเสียงระดับโลกชาวแคนาดา ที่พบว่าการกอดวันละ 4 ครั้ง เพื่อการดำรงชีวิต วันละ 8 ครั้ง เพื่อการดำเนินชีวิต และ 12 ครั้ง เพื่อจิตใจและการเจริญเติบโตของร่างกาย อีกทั้งยังพบว่าการกอดสามารถเยียวยาผู้ป่วยได้อกเหนือจากการรักษาด้วยวิธีการและยาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดความรัก กำลังใจ ความอบอุ่น ความเป็นห่วงเป็นใยไปสู่ผู้ป่วย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้นและมีกำลังใจสูงขึ้นด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว