วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดี กรมชลประทาน เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ร.อ. พิเชฐ ตานะเศรษฐ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม รวมทั้งมีหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอยู่ในคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรุงเทพฯ
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(13 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 43,251 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 19,457 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 37 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 10,223 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,527 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณน้ำใช้การได้ สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ ล่าสุด(12 ก.พ. 63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 9,278 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,646 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนฯ
กรมชลประทานดำเนินการจัดการคุณภาพน้ำ ด้วยมาตรการตรวจสอบประสิทธิภาพการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยวิธีการหา Water Footprint Water Footprint โดยการเก็บตัวอย่างน้ำในช่วงเวลาน้ำทะเลหนุนสูงสุด (เดือนละ 2 ครั้ง) จากนั้นส่งตัวอย่างน้ำเข้า Lab เพื่อวิเคราะห์ไอโซโทป นำผลมาวิเคราะห์ Water Footprint Water ปัจจุบัน (13 ก.พ. 63) แม่น้ำเจ้าพระยา สถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี และท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเค็ม โดยทำการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแม่น้ำบางปะกง สถานีปราจีนบุรี แม่น้ำท่าจีน สถานีปากคลองจินดา และแม่น้ำแม่กลอง สถานีปากคลองดำเนินสะดวก คุณภาพน้ำอยู่ในค่าปกติเช่นกัน
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันจังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 จํานวน 21 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และชัยภูมิ รวมทั้งสิ้น 127 อำเภอ 674 ตำบล 3 เทศบาล 5,809 หมู่บ้าน/ชุมชน (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ วันที่ 12 ก.พ.63)
โดยกรมชลประทานได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือ พร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ไว้พร้อมสำหรับเข้าช่วยเหลือทุกพื้นที่ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ และเคร่งครัดในการปฏิบัติตามแผนของการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 62/63 ของกรมชลประทาน ตลอดจนทำงานบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้งให้ได้มากที่สุด