นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคใบด่างมันสำปะหลัง พบว่า ปัจจุบัน (ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร 22 มกราคม 2563) มีพื้นที่ระบาด จำนวน 56,138 ไร่ ใน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ระยอง ลพบุรี ศรีสะเกษ สระแก้ว สุรินทร์ และอุบลราชธานี ซึ่งพื้นที่การระบาด คิดเป็นร้อยละ 0.67 ของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ 8.43 ล้านไร่ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศ
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและชี้เป้าพื้นที่ระบาด ดำเนินการกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค พร้อมชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก มันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบในอัตราชดเชยไร่ละ 3,000 บาท ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์สะอาด ควบคุมการนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศและการขนย้ายท่อนพันธุ์ภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเพื่อป้องกันกำจัดโรคใบด่าง
จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 20 – 23 มกราคม 2563 พบว่า ขณะนี้ สามารถควบคุมสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดไว้ได้แล้ว โดย จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 162,860.75 ไร่ พบพื้นที่ระบาด จำนวน 135 ไร่ ในอำเภอศรีราชา โดยเป็นพื้นที่ของเกษตรกร จำนวน 8 ราย ขณะนี้ได้ดำเนินการทำลายแล้ว จำนวน 83 ไร่ ของเกษตรกร 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ระบาด ในส่วนของการจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรจะพิจารณาอนุมัติเงินชดเชยโดยคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินชดเชยภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนพื้นที่ระบาดที่เหลือนั้น อยู่ในกระบวนการอนุมัติการทำลายของคณะทำงานฯ ระดับอำเภอ สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 141,753 ไร่ พบพื้นที่ระบาด จำนวน 1,115 ไร่ ในอำเภอสนามชัยเขต และอำเภอพนมสารคาม เป็นพื้นที่ของเกษตรกร จำนวน 69 ราย โดยพื้นที่ระบาดทั้งหมด ขณะนี้อยู่กระบวนการอนุมัติการทำลายของคณะทำงานฯ ระดับอำเภอ และจะจัดจ้างทำลายโดยสำนักงานเกษตรอำเภอ ตามหลักเกณฑ์การทำลายและแผนปฏิบัติการที่โครงการกำหนดต่อไป
ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ในส่วนของพื้นที่จังหวัดที่เหลือ สศก. มีแผนจะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แก้ไขการระบาดในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2563 ได้เตรียมลงพื้นที่ติดตามในจังหวัดสระแก้วและนครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่ระบาดสูงและมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา และยังคงมีการระบาดของโรค โดยจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เร่งประชาสัมพันธ์ ชี้แจงให้เกษตรกรเฝ้าระวังและสำรวจแปลงของตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเบื้องต้น วิธีการทำลายต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตามหลักวิชาการ จะใช้วิธีการฝังกลบและราดด้วยสารเคมี กำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG ซัลเฟนทราโซน 48% SC ไดยูรอน 80% WP อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน จึงกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร และพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นพาหะนำโรค นอกจากนี้ เกษตรกรต้องใช้ท่อนพันธุ์สะอาดจากแหล่งปลูกที่ไม่พบโรคระบาดหรือการผลิตท่อนพันธุ์สะอาดใช้เองในชุมชน เพื่อตัดวงจรการระบาดได้ทั้งหมด ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการทราบข้อมูลของโรคใบด่างมันสำปะหลัง หรือแจ้งสถานการณ์ในพื้นที่ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ กรมส่งเสริมการเกษตรทุกอำเภอในพื้นที่
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล