ช่วงหน้าร้อน หรือซัมเมอร์ หลายท่านอาจจะชอบไปเที่ยว อาบแดด หรือบางท่านไม่ได้อยากเผชิญแสงแดด แต่เลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีพื้นที่มากที่สุดในร่างกาย ปกคลุมร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เปรียบเสมือนปราการด่านแรกที่คอยป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบร่างกาย เป็นตัวรับสัมผัสจากภายนอกทั้งแสงแดด ความร้อน ความเย็น ผิวหนังจึงมีกลไกการทำงานต่าง ๆ ในการทำหน้าที่เหล่านี้ เช่น กลไกการระบายความร้อน กลไกการป้องกันรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต ไม่ให้ทะลุผ่านไปยังชั้นผิวหนังที่ลึกขึ้น โดยการสร้างเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน กลไกการต่อสู้กับเชื้อโรค เป็นต้น
แต่จริง ๆ แล้ผิวหนังยังต้องการแสงแดดในปริมาณที่เหมาะสม เพราะแสงแดดจะไปกระตุ้นสร้างวิตามินดี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอย่างดี ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เซลล์ร่างกายเสื่อม ควบคุมสมดุลของฮอร์โมน ควบคุมการดูดซึมและขนส่งแคลเซียม ฟอสฟอรัส ไปไว้ที่กระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรง เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองส่วนที่เก็บรักษาความจำ จึงช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้ หากผิวหนังได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ก็จะนำไปสู่การเจ็บป่วยของผิวหนังเองและอวัยวะอื่น ๆ เนื่องจากการขาดวิตามินดี ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรับแสงแดดคือ ช่วงเช้า 06.00น.-08.00น. และหลังจาก 16.00น. เป็นเวลา 10-20 นาที
รังสีตัวร้ายทำลายผิว
แสงแดดที่เรามองเห็นเป็นสีเดียวกัน แท้จริงแล้วประกอบด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ต (ultraviolet light)หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อว่า แสงยูวี (UV) แสงที่ดวงตามองเห็น (visible light) และแสงอินฟราเรด (infrared) ซึ่งช่วงคลื่นที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวมากที่สุดคือ แสงยูวี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วงคลื่น ด้วยกันคือ ยูวีเอ (UVA) สามารถผ่านทะลุเข้าไปทั้งชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำอันตรายต่อโครงสร้างและเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นและยังเป็นปัจจัยที่เร่งการก่อตัวของอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวเกิดริ้วรอย
ยูวีบี (UVB) สามารถผ่านทะลุชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ชั้นบนเท่านั้น เป็นปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดกระ ฝ้า และจุดด่างดำ ทำให้ผิวบวมแดงและแสบร้อน ผิวไหม้ หากถูกแดดเผาเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ยูวีซี (UVC) เป็นรังสีคลื่นสั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกดูดซับโดยก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศ เมื่อชั้นโอโซนถูกทำลายจนเกิดรูโหว่ ก็ทำให้รังสีเหล่านี้ผ่านเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกได้มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นแดง ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแทน และเกิดปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังขึ้นได้
รังสียูวีในแสงแดดจะกระตุ้นการสร้างอนุมูลอิสระซึ่งจะไปจับกับโปรตีนและไขมันในชั้นผิวหนัง ทำให้โครงสร้างผิวเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผิวขาดความยืดหยุ่น ไม่เต่งตึง เกิดริ้วรอยขึ้น อนุมูลอิสระเหล่านี้ยังเข้าไปเปลี่ยนแปลงและทำลายสารพันธุกรรม หรือ DNA ในชั้นผิวหนังของเรา ทำให้การทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้มีการแบ่งตัวที่ผิดปกติ จนก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งผิวหนังขึ้น นอกจากนี้แสงแดดยังเป็นตัวกระตุ้นการผลิตเม็ดสีเมลานินในผิวซึ่งทำหน้าที่เหมือนเกราะป้องกันแดดตามธรรมชาติของผิว และปกป้องผิวจากรังสียูวี เมลานินในคนผิวขาวจะมีขนาดเล็กและอยู่รวมกันเป็นกระจุก ส่วนในคนผิวเข้ม จะมีขนาดใหญ่กว่าและอยู่เดี่ยว ๆ
ดูแลผิวหนังอย่างไรดี
ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแดดแรง ตลอดจนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากอันตรายของรังสียูวี การถนอมบำรุงผิวอย่างเหมาะสมและป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดมากเกินไปเป็นเรื่องที่จำเป็น วิธีดูแลเบื้องต้น ได้แก่ ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อรักษาความชุ่มชื้น การระบายความร้อนของผิวหนังจำเป็น หลีกเลี่ยงแดดจัด ๆ ตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงสามโมงเย็น เพราะรังสียูวีจะมีมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใช้ร่มหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ในการป้องกันแสงแดด
การบำรุงผิวก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน อาจเลือกการบำรุงผิวด้วยสารธรรมชาติ สามารถช่วยป้องกันและบรรเทาผลเสียจากรังสีอันตรายและมลภาวะอื่นๆ ซึ่งทำให้ผิวขาดความยืดหยุ่น ไม่เต่งตึง เกิดริ้วรอยขึ้น เหี่ยวย่นและแก่ก่อนวัย แนวทางการเลือกใช้สมุนไพรคือ เน้นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น และมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ คืนความชุ่มชื้นให้ผิว สร้างคอลลาเจนทำให้เกิดความยืดหยุ่น ได้แก่
- รางจืด: ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ
- แตงกวา: คงความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ลดการอักสบ ลดการแพ้ ลดการเกิดฝ้ากระจุดด่างดำ มีฤทธิ์เย็น
- ว่านหางจระเข้: เพิ่มความชุ่มชื้น เพิ่มการสร้างคอลลาเจน ลดการอักเสบ ลดฝ้ากระ จุดด่างดำ
- บัวบก: เพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้เซลล์มีการใช้ออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น ลดการอักเสบ ทำให้แผลหายเร็ว
- มะขาม : ผัดเซลล์ผิวที่เสื่อสภาพภายนอก ใช้ขัดพอกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- ประดูทุ่ง(ดู่ท่ง) : สารสกัดสมุนไพรชนิดนี้ ช่วยดูแลให้ผิวกระจ่างใส ไร้ฝ้า กระ ด้วยกลไกการทำงานไปยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว เมลานินได้โดยตรง แนะนำเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในการบำรุงผิวให้กระจ่างใส
หลังจากบำรุงผิวกันแล้วที่สำคัญของการปกป้องผิวคือการเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพ และควรใช้เป็นประจำก่อนออกไปเจอกับแสงแดดภายนอกเพื่อความปลอดภัยของผิวเรา
ตำรับสมุนไพรแนะนำทำใช้เอง
สเปรย์รางจืด : ใช้ฉีดพ่นผิวบรรเทาอาการแสบร้อน ป้องกันผิวไหม้จากแสงแดด และช่วยบรรเทาอาการแพ้
ส่วนประกอบ
ใบรางจืดแห้ง 15 ใบ
แตงกวาปอกเปลือก 4 ลูก
ว่านหางจระเข้ปอกเปลือก 2 กาบ
ใบบัวบก 10-20 ใบ
น้ำสะอาด 1 ลิตร
วิธีทำ
ต้มจนเดือด ใส่ใบรางจืด ต้มจนเดือดแล้วต้มต่อนาน 5 นาที พักไว้จนอุ่น ปั่นแตงกวา บัวบก ว่านหางจระเข้ เข้าด้วยกัน ผสมลงในน้ำต้มรางจืด คนให้เข้ากัน กรองด้วยผ้าขาวบางสองชั้น บรรจุใส่ขวดที่มีฝาปิดสนิท
ข้อแนะนำ
สามารถใช้ทา หรือฉีดพ่นเมื่อมีอาการแพ้ แสบร้อน และแมลงสัตว์กัดต่อยได้ตามต้องการ
หมายเหตุ
เนื่องจากสูตรนี้ไม่มีสารกันเสีย ดังนั้นควรทำแต่น้อย เก็บไว้ในตู้เย็น และไม่ควรใช้หากกลิ่นเปลี่ยนไปจากเดิม