จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในช่วงนี้มีแนวโน้มระบาดมากขึ้นในหลายประเทศ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการโรคอุบัติใหม่จึงดำริให้ รมช. สธ. ซึ่งกำกับดูแลกรมการแพทย์เตรียมความพร้อมในการรับมือกับการระบาดในวงกว้างควรดำเนินการทั้งในส่วนของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน ที้งนี้ได้มอบให้ กรมการแพทย์ รับผิดชอบในสการพัฒนารูปแบบการวินิจฉัย การดูแลรักษาพยาบาล, และการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล โดยเริ่มจากการจัดตั้งคลินิกไข้หวัด เป็นแบบ One stop service. คล้ายกับช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 เพื่อให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจติดเชืัอไวรัส 2019-nCoV ได้รับการวินิจฉัยเร็ว ให้การดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว และลดการแพร่กระจายเชื้อได้ และ ได้มอบให้กรมการแพทย์ประสานการดำเนินงาน กับโรงพยาบาลในสังกัดต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet), โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเอกชน และ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค เพื่อให้มีแนวทางการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้รับมอบนโยบายและนำสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้ง คลินิกไข้หวัด (Fever and Acute Respiratory Infection Clinic) โดยยึดแนวทางการคัดกรอง ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และได้กล่าวถึงการจัดตั้งคลินิกไข้หวัด ว่าเพื่อให้เป็นOne Stop Service. ตั้งแต่ การคัดกรอง การวินิจฉัยตรวจรักษา จนทราบผลวินิจฉัยว่าเข้าข่ายผู้ติดเชื้อไวรัส 2019-nCoV หรือไม่ รวมถึงการจัดเตรียมห้องน้ำ ห้องจ่ายยา ห้องพักคอย เป็นต้น เพื่อไม่ปะปนกับผู้ป่วยอื่นๆ ที่มารับบริการ เป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคได้ิระดับหนึ่ง และหากจำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลดำเนินการตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ ข้างต้น ทั้งนี้ กรมการแพทย์จะเผยแพร่ต้นแบบของ คลินิกไข้หวัด ให้กับสถานพยาบาลให้กับโรงพยาบาลในสังกัดต่างๆ ทุกแห่ง ต่อไป
………………………………………..