ปปง. ยึดอายัดทรัพย์สิน 2 คดีฉ้อโกงประชาชน รวมมูลค่ากว่า 83 ล้าน

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) กล่าวว่า คณะกรรมการธุรกรรม ในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 ซึ่งได้มีการประชุมในวันนี้ มีมติเห็นชอบให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีฉ้อโกงประชาชนที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จำนวน 2 รายคดี ดังนี้

  1. รายคดี บริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จำกัด โดยนายภัทริคณ์ เรตะกุล กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์แห่งคดี มีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : บริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จำกัด โดยนายภัทริคณ์ เรตะกุล กรรมการผู้จัดการ กับพวก ได้จำหน่ายรายการนำเที่ยวผ่านโปรแกรมเฟซบุ๊ก ในลักษณะทัวร์กลุ่มปิดซึ่งเป็นการจำหน่ายรายการนำเที่ยวให้แก่สมาชิก โดยสมาชิกต้องเคยไปท่องเที่ยวทัวร์ที่บริษัทฯ จัดโปรแกรมเท่านั้นจึงจะซื้อทัวร์ได้
ซึ่งทัวร์ที่บริษัทฯ จัดจำหน่ายนั้นมีลักษณะราคาถูกมากกว่าปกติ เป็นราคาต่ำกว่าทุน มีการชักชวนให้สมัครสมาชิกแล้วให้สมาชิกแนะนำ บอกต่อ หรือชักชวนญาติ เพื่อน มาท่องเที่ยวกับบริษัทฯ หากสมาชิกทำได้จะได้รับสิทธิการท่องเที่ยวในราคาถูก เมื่อผู้เสียหายซื้อทัวร์และได้เดินทางไปท่องเที่ยวในราคาถูกได้จริงและได้รับการบริการไม่ต่างจากการไปเที่ยวในราคาปกติ จึงมีการจองรายการนำเที่ยวอื่นเพิ่มเติม แต่ต่อมาผู้เสียหายกลับไม่ได้เดินทาง
ตามวันเวลาที่กำหนด โดยบริษัทฯ ได้แจ้งให้ผู้เสียหายเลื่อนการเดินทาง หรือเปลี่ยนทัวร์ไปรวมกับทัวร์อื่น บางรายถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มเติม หรือหากรายใดไม่ประสงค์เดินทางให้แจ้งขอคืนเงินและจะได้รับเงินคืนภายใน 180 วัน แต่เมื่อครบกำหนดดังกล่าว ผู้เสียหายกลับไม่ได้รับเงินคืน

มติคณะกรรมการธุรกรรมโดยย่อ : เห็นชอบให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
จำนวน 58 รายการ พร้อมดอกผล (เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร สลากออมทรัพย์ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุดและหุ้น) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 44,669,854.75 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน

  1. รายคดี นายเควิน ลัย และนายหยาง หยวน เฉา กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นายเควิน ลัย และนายหยาง หยวน เฉา ได้ร่วมกันใช้ชื่อในการก่อตั้งธุรกิจในชื่อ United Development Bank of Pacific หรือ ธนาคาร UDBP โดยมิใช่สถาบันการเงิน เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หรือเป็นธนาคารสาขาของธนาคารที่ได้รับอนุญาต
ให้จัดตั้งจากสาธารณรัฐวานูอาตู โดยมีรูปแบบการทำธุรกรรมที่คล้ายกับธนาคาร เช่น ออกสมุดบัญชีให้แก่สมาชิกที่ได้ชำระเงินค่าสมัครสมาชิก การตรวจสอบสถานะ ยอดเงินค่าคอมมิชชั่น และทำรายการขอรับค่าคอมมิชชั่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่ปกปิดว่าเป็นสถานฝึกอบรมด้านการตลาด โดยมีการชักชวนให้บุคคลสมัครเข้าเป็นสมาชิกเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจดังกล่าว โดยมีการทำรายการส่งข้อมูลสมาชิกและหลักฐานการโอนเงินค่าสมัครผ่านทางอีเมล์ และใช้บัญชีเงินฝากของตนและเครือข่ายรับโอนเงินค่าสมัครสมาชิก ในระยะแรกกำหนดค่าสมัครเป็นจำนวนเงิน 200 ดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีเงื่อนไขให้สมาชิกชักชวนบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม จึงจะได้รับเงิน  ค่าคอมมิชชั่นตอบแทนเป็นร้อยละของค่าสมัครสมาชิก และเมื่อสามารถหาสมาชิกรายใหม่เพิ่มครบจำนวนที่กำหนดจะได้รับค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้นตามระดับตำแหน่งนั้น ๆ ตั้งแต่ร้อยละ 15 จนถึงร้อยละ 45 ของค่าสมัครสมาชิก เป็นเหตุให้สมาชิกเดิมเชื่อว่า หากได้ชักชวนบุคคลอื่นเข้าร่วมด้วยการนำเงินมาฝากตามวิธีการดังกล่าวให้ได้ต่อเนื่องกันตลอดไปแล้ว ในที่สุดตนจะได้รับผลกำไรตอบแทนเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่ตนได้นำมาฝากเมื่อเข้าเป็นสมาชิก เบื้องต้นจากฐานข้อมูลเว็บไซต์ธุรกิจดังกล่าว พบว่ามีรายชื่อสมาชิก จำนวน 9,010 ราย คิดเป็นเงินค่าสมัครทั้งสิ้นประมาณ 266,532,258 บาท

มติคณะกรรมการธุรกรรมโดยย่อ : เห็นชอบให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 18 รายการ พร้อมดอกผล (ห้องชุด เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 38,881,245.38 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน

พลตำรวจตรี ปรีชาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรรมและตัดเส้นทางทางการเงินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง. จะเน้นการสืบสวนขยายผล เพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ   การกระทำความผิดในรายคดีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความเข้มข้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อความสงบสุข ความมั่งคงของประเทศชาติต่อไป ภายใต้ปรัชญาการทำงานที่ว่า “ทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไขด้วยกฎหมายฟอกเงิน” ทั้งนี้ หากพบเห็นบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ขอให้โทรแจ้งหรือสอบถามได้ที่สายด่วน ปปง. 1710 หรือผ่านทางคิวอาร์โค้ด