สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยลงเรื่อยๆ ตามแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก กรมชลประทานคุมเข้มการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำพอเพียงตลอดแล้งนี้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(11 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 40,946 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 17,546 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,242 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,546 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (ระหว่าง 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีการจัดสรรน้ำมันรก 4 เขื่อนหลัก รวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำทั้งประเทศ ล่าสุด (11 ก.พ. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 9,181 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,623 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้
กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่ง บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ให้พร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ รวมทั้งการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และการตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ ร่วมกันประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ทุกฝ่ายร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และให้ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ
…………………………………….
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
11 กุมภาพันธ์ 2563