“ดีป้า” นำทีมผู้บริหารดิจิทัลสตาร์ทอัพเข้าพบนายกรัฐมนตรี โชว์เทคโนโลยีเพื่อการเงิน อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ-ประชาชน

11 กุมภาพันธ์ 2563, ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำคณะผู้บริหารดิจิทัลสตาร์ทอัพ 5 รายเข้าพบนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการเงินที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและภาคประชาชน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำคณะผู้บริหารดิจิทัลสตาร์ทอัพจาก 5 บริษัท เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการเงิน (FinTech) พร้อมอธิบายคุณประโยชน์ที่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนจะได้รับ ซึ่งดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย

  1. Refinn บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอท คอม จำกัด) นำเสนอ “แพลตฟอร์มรีไฟแนนซ์ ลดภาระหนี้สินให้คนไทย”
  2. Noburo (บริษัท โนบูโระ จำกัด) นำเสนอ “การวางแผนการเงินครบวงจร พร้อมสินเชื่อสวสดิการ ด้วยโปรแกรมอัจฉริยะ Robo-Advisor”
  3. Ioaday (บริษัท ไอโออะเดย์ จำกัด) นำเสนอ “บริการเชิงรุกสำหรับธุรกิจประกันภัย คมนาคมขนส่ง และคุณภาพชีวิต”
  4. Espree (บริษัท เอสปรีดอทไอโอ จำกัด) นำเสนอ “เครื่องมือที่ช่วยให้ภาคธุรกิจในสังคมไร้เงินสดเปลี่ยน “ต้นทุน” ให้เป็น “กำไร” โดยอัตโนมัติ”
  5. iTAX (บริษัท ไอแท็กซ์ อินคอเปอร์เรชั่น จำกัด) นำเสนอ “การทำงานของระบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการภาษีของเจ้าของธุรกิจออนไลน์แบบครบวงจรร่วมกับกรมสรรพากรและธนาคารพาณิชย์”

ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเงินจากบรรดาดิจิทัลสตาร์ทอัพที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะในครั้งนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทยรุ่นใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้จะส่งผลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเป็นโซลูชันที่จะ

ช่วยอำนวยความสะดวก และตอบโจทย์ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคประชาชนในอนาคต

ขณะที่ นายฉัตรชัย กล่าวว่า เทคโนโลยีเพื่อการเงินคือ การนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคคลทั่วไป สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่ต้องการทำธุรกรรมทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝาก ถอน โอน จ่าย ขอสินเชื่อ หรือแม้แต่การลงทุน ซึ่งจะช่วยให้การเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว โดยไม่ถูกจำกัดอยู่กับสถาบันการเงินอีกต่อไป

ทั้งนี้ ดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 5 รายเป็นส่วนหนึ่งของดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้รับการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาต่อยอดธุรกิจภายใต้มาตรการส่งเสริมของดีป้า และสัปดาห์ถัดไป (18 ก.พ.) ดีป้าจะนำผู้บริหารดิจิทัลสตาร์ทอัพเข้านำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาโดยคนไทยรุ่นใหม่ เพื่อคนไทย และพร้อมต่อยอดสู่ระดับสากล