ชป.เดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ หวังบรรเทาและแก้ปัญหาทั้งภัยแล้ง/น้ำท่วมเมืองพัทลุง

กรมชลประทาน เดินหน้าแก้ไขและบรรเทาปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เร่งพัฒนาแหล่งน้ำและขุดลอกคลองระบายน้ำในพื้นที่ 7 ลุ่มน้ำย่อย หวังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนและช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพัทลุงได้อย่างยั่งยืน

วันที่ 10 ก.พ. 63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ไปติดตามการพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยมีนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปแผนพัฒนางานด้านชลประทานในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลำน้ำส่วนใหญ่เป็นลำน้ำสายสั้นๆ 7 ลุ่มน้ำย่อย คือ ลุ่มน้ำคลองป่าพะยอม ลุ่มน้ำคลองท่าแนะ ลุ่มน้ำคลองนาท่อม ลุ่มน้ำคลองสะพานหยี ลุ่มน้ำคลองท่าเชียด-บางแก้ว ลุ่มน้ำคลองป่าบอน  และลุ่มน้ำคลองพรุพ้อ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ-   ป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม ความจุเก็บกัก 20.50 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง อำเภอตะโหมด  ความจุเก็บกัก  30  ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำป่าบอน อำเภอป่าบอน ความจุเก็บกัก 20 ล้าน ลบ.ม. แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของจังหวัดพัทลุง มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงด้านทิศตะวันตก แล้วลาดเอียงไปยังที่ราบลุ่มด้านตะวันออก เมื่อเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะบริเวณต้นน้ำในเขตเทือกเขาบรรทัด มักจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้มีน้ำท่วมฉับพลันบริเวณพื้นที่เชิงเขา ประกอบกับประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองไม่เพียงพอ รวมทั้งมีถนนสายเอเชียและเส้นทางรถไฟสายใต้ขวางอยู่ ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งไหลไปรวมกันที่บริเวณพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา ซึ่งหากเกิดพร้อมกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูง จะทำให้น้ำท่วมขังนานขึ้น

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง แม้ว่าจังหวัดพัทลุงจะมีปริมาณฝนค่อนข้างมากและเกิดปัญหาอุทกภัยเกือบทุกปี แต่ยังคงประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้งด้วยเช่นกัน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ต้นน้ำ จึงไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำส่วนเกินไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำเหล่านี้ ไหลลงทะเลสาบโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ประกอบกับโครงการชลประทานขนาดกลางในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารประเภท ฝาย และประตูระบายน้ำ ซึ่งจะเป็นอาคารควบคุมการปิด-เปิด เพื่อนำน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานเท่านั้น ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้มากนัก  ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง จึงเป็นการวางแผนการเพาะปลูกพืชให้มีความสัมพันธ์กับปริมาณต้นทุนที่มีอยู่ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์และชี้แจงผ่านการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชตามแผนการเพาะปลูกที่โครงการชลประทานพัทลุงได้วางแผนไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้นได้

จากสภาพปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนแม่บท เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ด้วยการขยายพื้นที่ชลประทานและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ส่วนพื้นที่ตอนกลางจะก่อสร้างโครงการประเภทฝายและประตูระบายน้ำ สำหรับพื้นที่ตอนล่างจะดำเนินการขุดลอกลำน้ำหรือขุดคลองผันน้ำ เป็นต้น สำหรับการพัฒนาและการบริหารจัดการในลุ่มน้ำคลองท่าแนะ เป็นหนึ่งในแผนแม่บทที่จะมีการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำ มีแผนที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาแก้ว(ตอนบน) ความจุประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. ตั้งอยู่ที่บ้านเขาแก้ว ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการเบื้องต้น   หากสามารถดำเนินโครงการได้แล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่การเกษตรในตำบลตะแพน ได้อีกด้วย

ในส่วนของพื้นที่กลางน้ำ ได้มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าแนะ ตั้งอยู่ที่บ้านสํานักปราง หมู่ที่ 1 ตําบลเขาย่า อําเภอศรีบรรพต ประกอบไปด้วยบานประตูระบายน้ำ 3 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 350 ลบ ม.ต่อวินาที พร้อมกับก่อสร้างคลองส่งน้ำ 6 สาย รวมความยาวคลองส่งน้ำ 45 กิโลเมตร สำหรับใช้ส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขต    ตําบลควนขนุน ตำบลชะมวง ตำบลดอนทราย ตำบลโตนดด้วน  ตำบลนาขยาด อําเภอควนขนุน และตําบลเขาย่า        อําเภอศรีบรรพต พื้นที่รวมประมาณ 25,000 ไร่

“ในพื้นที่ปลายน้ำ จะเป็นการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าแนะบริเวณแยกโพธิ์ทอง และเทศบาลควนขนุน ด้วยการก่อสร้างคลองระบายน้ำฝั่งซ้าย ความยาว 12 กิโลเมตร และคลองระบายน้ำฝั่งขวา ความยาว 12 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุดคลองละ 75 ลบ ม.ต่อวินาที พร้อมขุดลอกคลองธรรมชาติ 4 สาย ความยาวรวม 42.75 กิโลเมตร หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำท่าแนะได้สูงสุดในรอบ 10 ปี ทั้งยังสามารถเก็บกักน้ำสํารองไว้บริเวณหน้าประตูระบายน้ำอีกประมาณ 1.2 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับผลประโยชน์ในหน้าฝน 12,000 ไร่ ส่วนหน้าแล้งประมาณ 1,200 ไร่ นอกจากนี้ ยังสามารถลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้ประมาณ 1,800 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละประมาณ 76.24 ล้านบาท เป็นการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าแนะได้เป็นอย่างมาก” นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด

*****************************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

10 กุมภาพันธ์ 2563