กรมสุขภาพจิต แนะการติดตามดูแลเด็กและเยาวชนที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

กรมสุขภาพจิต แนะวิธีการติดตามดูแลเด็กและเยาวชนที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญและอาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากเหตุการณ์กราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ที่เกิดขึ้นวานนี้

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง กรณีเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมาที่เกิดขึ้นวานนี้ว่า หลังจากกรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT (ทีมวิกฤติสุขภาพจิต) เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนเป็นการเร่งด่วนตั้งแต่ช่วงคืนวานจนถึงบ่ายวันนี้พบว่า มีเด็กและเยาวชนมาเข้ารับการประเมิน 4 ราย โดยทั้ง 4 รายนี้ ได้รับการดูแลด้านจิตใจเบื้องต้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถกลับบ้านได้ โดยจะมีการติดตามต่อเนื่องเป็นระยะ แต่ทั้งนี้  กรมสุขภาพจิตคาดว่า มีเด็กและครอบครัวอีกจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น และได้เดินทางกลับบ้านไปก่อนแล้วระหว่างความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงคืนวาน ซึ่งกรมสุขภาพจิตกำลังติดตามเพื่อประเมินเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด

นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวต่ออีกว่า กรมสุขภาพจิตขอเน้นย้ำความสำคัญของผู้ปกครองและครอบครัวในการติดตามอาการของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพจิต เพราะเด็กมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงน้อย รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเด็กได้ 4 ด้าน ได้แก่ (1) ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ตกใจง่าย ฝันร้าย (2) ปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น พัฒนาการหยุดชะงัก ฉี่รดที่นอน (3) ปัญหาด้านการเรียน เช่น สมาธิแย่ลง หนีเรียน การเรียนตก และ (4) ปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว เก็บตัว เซื่องซึม เป็นต้น นอกจากนี้  ในระยะยาวอาจเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา เช่น โรคซึมเศร้า โรค PTSD และปัญหาพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง

ทั้งนี้ ผู้ปกครองและครอบครัวจะช่วยให้เด็กรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงได้โดย

  1. ให้เด็กได้เล่าและพูดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป กระตุ้นให้เด็กได้แบ่งปันความคิด และถามคำถามต่างๆ
  2. ให้เด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย สงบ เชื่อมต่อ และรู้สึกมีความหวัง
  3. ลดการดูสื่อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
  4. เมื่อเด็กพร้อมควรกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดการผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกว่า ตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้บ้าง เช่น เป็นอาสาสมัครในการสร้างชุมชนปลอดภัย แต่ควรงดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด

โดยหากพบความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมในเด็ก ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง