เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2563 ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านหนองแก ตำบลหนองไผ่ อำเภอแก้งคร้อ จังวัดชัยภูมิ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2563 พร้อมด้วย นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ผู้บริหารส.ป.ก. และผู้แทนจากส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านหนองแก ตำบลหนองไผ่ อำเภอแก้งคร้อ จังวัดชัยภูมิ โดยมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง เพื่อเป็นสัญญาณในการเปิดงาน และเป็นการแสดงถึงการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2563 ของจังหวัดชัยภูมิ อย่างเป็นทางการ และมีการมอบพันธุ์ไม้ พันธุ์ปลา ปุ๋ยอินทรีย์ และมอบปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า Field Day มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดการเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ตามหลักแนวคิด “การถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง” โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยนิทรรศการด้านวิชาการและเทคโนโลยีด้านการเกษตรของหน่วยงานภาครัฐในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเอกชน จำนวน 20 หน่วยงาน การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการจัดการดินปุ๋ย การบรรยายความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน การน้อมนำศาสตร์พระราชาไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมและดำรงชีวิตประจำวัน การบริการด้านการเกษตรและการจัดสถานีเรียนรู้จากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีสาธิตการทำอาหารปลาเพื่อต้นทุนการผลิต 2.สถานีจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน 3.สถานีการจัดการดินและปุ๋ย 4.สถานีการปรับปรุงพันธุ์ การผสมเทียม โค-กระบือ การแปรรูปพืชอาหารสัตว์ และ 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและการแปรรูป ตลอดจนการจัดแสดงสินค้าทางการเกษตรจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young smart farmer) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และผลิตภัณฑ์ OTOP ของอำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

ดร.วิณะโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในครั้งนี้มีความมุ่งหวังเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่นำมาแสดง นำไปใช้ในการผลิตสินค้าเกษตร ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม มีระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลผลิตมีคุณภาพปลอดภัยได้มาตรฐาน สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกให้เกษตรกรมีการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตประจำวันอีกด้วย