กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยนายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าวความร่วมมือและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องในการกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย พร้อมเร่งดำเนินการให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกับ นายธนา ยันตรโกวิท ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมพัฒนาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมแถลงข่าวบทบาทความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ มุ่งเน้นสนับสนุนบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ร่วมดำเนินงานกำจัดไวรัสตับอักเสบ เพื่อขยายความครอบคลุมให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการตรวจคัดกรองและดูแลรักษาไวรัสตับอักเสบ
นายแพทย์สมบัติ กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ให้ประเทศสมาชิกดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบอย่างบูรณาการ และจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบอย่างเป็นรูปธรรม จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังประมาณ 257 ล้านคน และผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 71 ล้านคน ส่วนประเทศไทยคาดประมาณผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังประมาณ 2.2 ล้านคน โดยพบมากในประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไป และผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 7.5 แสนคน พบมากในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหา ของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทยจำนวนมาก โดยดำเนินโครงการคืนคนสุขภาพดีสู่สังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเทิดพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ทรงได้รับการถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNAIDS Goodwill Ambassador) ระหว่าง พ.ศ.2561-2563 ดำเนินการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซี เอชไอวี และซิฟิลิส ผู้ต้องขังใน 40 เรือนจำ คาดประมาณผู้ต้องขังที่ได้รับการคัดกรอง 36,000 ราย นอกจากนั้น ยังร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบซีในประชาชนทั่วไป 12,500 คน ในพื้นที่ อปท. 40 แห่ง และจะขยายครอบคลุมไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนดำเนินกิจกรรมคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แก่พนักงานคัดแยกขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 77 จังหวัดทั่วประเทศ 38,500 คน เพื่อส่งต่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้อย่างครอบคลุม นอกจากนั้น กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดำเนินโครงการวิจัยท้าทายไทย “คนไทยไม่เป็นไวรัสตับอักเสบ” ปี 2563-2564 ในกลุ่มเสี่ยงสูง 8 กลุ่มทั่วประเทศ ได้แก่ 1)ผู้ต้องขังหรือผู้เคยมีประวัติต้องขัง 2)ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย 3)พนักงานบริการทางเพศ 4)ผู้ที่เคยได้รับเลือดและ/หรือรับบริจาคอวัยวะก่อนปี 2535 5)ผู้ที่เคยสักผิวหนัง เจาะผิวหนังหรืออวัยวะต่างๆ ในสถานประกอบการที่ไม่ใช่สถานพยาบาล 6)ผู้ที่มีภาวะไตวายเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกไตเป็นประจำ 7)ผู้ที่เคยรับการรักษาจากผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และ 8)ผู้ที่มีค่าเอนไซม์ของตับผิดปกติ ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ดำเนินการปรับแนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี จากการใช้ยาฉีดเป็นการกินยาต้านไวรัสที่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ และช่วยลดงบประมาณของประเทศ ในการตรวจยืนยัน
นายแพทย์สมบัติ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานการกำจัดไวรัสตับอักเสบ ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ตรวจวินิจฉัย ดูแล รักษา และควบคุมโรคตับอักเสบจากไวรัส การพัฒนากลไกการบริหารจัดการ การประสานงาน และมาตรฐานงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ตลอดจนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีมากขึ้น เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ภายในปี 2573 ต่อไป โดยผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 แห่งทั่วประเทศ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้บริหารและบุคลากรของกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งสิ้น 100 คน
…………………………………………………
ข้อมูล : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค