ชป. หารือ กปน. วางแนวทางผันน้ำสู้น้ำเค็ม ช่วยรักษาคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมเรื่องการลำเลียงน้ำผ่านคลองประปาลงสู่คลองรังสิตประยูรศิกดิ์ โดยมี นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายวรวิทย์ บุณยเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 และผู้แทนจากการประปานครหลวง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สำนักงานชลประทานที่ 11 จ.นนทบุรี

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมกรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กล่าวถึงมาตรการควบคุมค่าความเค็มว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลง ประกอบกับภาวะน้ำทะเลหนุนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดค่าความเค็มเกินมาตราฐานในการนำน้ำดิบมาผลิตน้ำประปาในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา  กรมชลประทาน จึงได้เฝ้าระวังและวางมาตราการในการควบคุมค่าความเค็ม ด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล สิริกิต์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ รวม 18 ล้าน ลบ.ม. พร้อมระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 90 ลบ.ม.ต่อวินาที และระบายน้ำท้ายเขื่อนพระรามหกในอัตรา 5 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อผลักดันค่าความเค็ม รวมทั้งทำการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านแม่น้ำท่าจีน ลงสู่แม่น้ำท่าจีนทางคลองพระยาบันลือในอัตรา 30 ลบ.ม.ต่อวินาที และคลองพระพิมลในอัตรา 19 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำในคลองพระยาบันลือและคลองพระพิมลรวม 102 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น ด้านท้ายน้ำได้ควบคุมการปิดเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธ์ตามการขึ้นลงของน้ำทะเล  นอกจากนี้  กรมชลประทานยังได้บูรณาการร่วมกับการประปานครหลวง ปฏิบัติการผลักดันลิ่มความเค็ม ด้วยวิธี WaterHammerOperation มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่าน ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งผลการปฏิบัติงานเป็นที่น่าพอใจ  ปัจจุบันสามารถควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง

สำหรับพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ โดย การลำเลียงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเหนือสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ผ่านคลองรังสิตฯ คลองระบายน้ำที่ 13 ลงสู่คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต และคลองพระองค์ไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาสนับสนุนปริมาณน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปา เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยเช่นกัน

กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังติดตามคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือทุกทางอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ และขอให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อตกลงการใช้น้ำร่วมกันอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอและทั่วถึงทุกพื้นที่

………………………………………………………………

 

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

7 กุมภาพันธ์ 2563