คปภ. เปิดเวทีสื่อสารนโยบายเชิงรุกกับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงบริษัทประกันภัย จัดงานสัมมนากรรมการบริษัทประกันภัย ประจำปี 2561 (Board Forum 2018) โดยเน้นสร้างความตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของคณะกรรมการบริษัทประกันภัย ในการร่วมกันกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Corporate Governance) และเพื่อสื่อสารให้กรรมการบริษัทมีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบและแนวปฏิบัติของสำนักงาน คปภ. ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงเพิ่มบทบาทของธุรกิจประกันภัยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนากรรมการบริษัทประกันภัย ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเวทีในการสื่อสารทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย และสร้างความตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของคณะกรรมการบริษัทประกันภัยในการร่วมกันกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่ดี (Corporate Governance) รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อันแสดงถึงศักยภาพและความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยร่วมกัน โดยปีนี้กรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของวงการประกันภัย ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คน โดยการสัมมนาในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วยช่วงเช้า และช่วงบ่าย ซึ่งช่วงแรกเป็นการสัมมนาเฉพาะกรรมการบริษัทประกันภัย ซึ่งประกอบไปด้วย กรรมการตรวจสอบ กรรมการลงทุน และกรรมการอิสระ
ในโอกาสนี้เลขาธิการ คปภ. ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษ เรื่อง “OIC Expectation to the Board of Directors” เพื่อสื่อสารความคาดหวังของสำนักงาน คปภ. ที่มีต่อคณะกรรมการบริษัทประกันภัย โดยฉายภาพสะท้อนผ่านกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลักของภาคธุรกิจประกันภัยทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่หนึ่ง : ผู้ประกอบธุรกิจประกันภัย คาดหวังให้กรรมการบริษัทกำกับดูแลธุรกิจให้มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจประกันภัย ไม่ทำการแข่งขันที่สร้างความไม่เป็นธรรมในตลาด ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความถูกต้องของกฎระเบียบ และที่สำคัญต้องตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล
กลุ่มที่สอง : คนกลางประกันภัย คาดหวังให้กรรมการบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับพฤติกรรมทางตลาด (Market conduct) เพื่อปิดช่องว่างการเสนอขายที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประกันภัยและประชาชนเสียประโยชน์ โดยขอให้กรรมการบริษัทเข้ามาทำหน้าที่ป้องกันปัญหา (Prevention) ควบคู่ไปกับสำนักงาน คปภ. ในการคุ้มครอง (Protection) สิทธิประโยชน์ของประชาชนด้วย
กลุ่มที่สาม : ผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียรายใหญ่ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัย มีความคาดหวังให้กรรมการบริษัทประกันภัยให้ความสำคัญกับผู้เอาประกันภัย สร้างความพึงพอใจ ลดประเด็นข้อพิพาท รวมถึงให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันภัยอย่างเป็นธรรมและครบวงจร
กลุ่มที่สี่ : ประชาชน คาดหวังให้กรรมการบริษัทประกันภัยร่วมผลักดันให้ระบบประกันภัยสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย อาทิ การสร้างหลักประกันในยุค Aging Society สร้างการออมและความมั่นคงให้กับสังคมผู้สูงอายุด้วยการประกันชีวิตและประกันสุขภาพ การส่งเสริมการประกันภัยให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศผ่านผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลประเภทต่างๆ ทั้งข้าวนาปี ทุเรียน ลำไย การขับเคลื่อนระบบประกันภัยไปสู่ SME ด้วยผลิตภัณฑ์ประกันภัยอัคคีภัย การประกันภัยความเสี่ยงภัยต่อทรัพย์สิน รวมไปถึงการประกันภัยรายย่อยประเภทต่างๆ
โดยเลขาธิการ คปภ. ยังได้ฝากถึงกรรมการบริษัทประกันภัย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยร่วมกับสำนักงาน คปภ. ซึ่งนอกจากจะเป็นการร่วมขับเคลื่อนความคาดหวังทั้งสี่ประการให้ประสบผลสำเร็จแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มจุดเชื่อมต่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีส่วนร่วมในการผลักดันภารกิจของสำนักงาน คปภ. ทั้งในเรื่องของการกำหนดภูมิทัศน์การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Supervisory Landscape) ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในระดับมหภาคที่เปลี่ยนแปลงไป การส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การเปิดเสรีผลิตภัณฑ์ประกันภัย การมีส่วนร่วมในด้านมาตรฐานการรายงานทางการเงิน การตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการจัดทำแบบประเมินตนเอง (Compliance Self-Assessment)
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “Corporate Governance Outlook 2018 and Beyond” โดยนางสาววราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับ และนายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านตรวจสอบ ซึ่งได้สื่อสารทิศทางและนโยบายในการออกกฎระเบียบใหม่ๆ เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจประกันภัย ซึ่งภายในปี 2561 นี้ สำนักงาน คปภ. ได้ยกร่างประกาศที่เกี่ยวกับ Corporate Governance (CG) และการบริหารจัดการเรื่องฉ้อฉลของบริษัทประกันภัย รวม 2 ฉบับ นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำเรื่องการตรวจสอบบริษัทด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและการสร้างวัฒนธรรมความเสี่ยงของบริษัท รวมไปถึงการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเตรียมพร้อมรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน และ ประกาศเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ต้นปีหน้าด้วย
ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนาดังกล่าวยังมีการชี้แจงผลการประเมิน Compliance Self – Assessment ของกรรมการบริษัทประกันภัย ประจำปี 2560 โดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย ซึ่งเป็นการอัพเดทผลของแบบประเมินในปีที่ผ่านมา ซึ่งยึดมุมมองตามผู้มีส่วนได้เสียทั้งด้านผู้ประกอบการ ตัวแทนนายหน้า ผู้เอาประกันภัย และประชาชน โดยเน้น “การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการบริษัท” ใน 3 มิติคือ การกำกับดูแลกิจการโดยคำนึงถึงการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน การกำกับดูแลกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และการกำกับดูแลกิจการด้านพฤติกรรมทางตลาด รวมถึงมีการชี้แจงแบบประเมินในปี 2561 โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณามอบรางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการบริหารงานดีเด่น ประจำปี 2560 ซึ่งกำหนดจัดในงานวันประกันภัยเดือนกันยายน 2561 ที่จะถึงนี้
สำหรับช่วงบ่ายมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือ CEO ของบริษัทประกันภัย ประกอบด้วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ โดยได้มีการส่งมอบนโยบายในหลายๆ ด้านของสำนักงาน คปภ. ทั้งนโยบายต่อการดำเนินกิจการของบริษัทประกันภัย นโยบายการกำกับดูแลบริษัทประกันภัย นโยบายการตรวจสอบบริษัทประกันภัย รวมทั้งแนวทางการกำกับดูแลและตรวจสอบคนกลางประกันภัย
“งานสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นมิติที่น่ายินดีเป็นอย่างมากของธุรกิจประกันภัยที่บุคคลสำคัญ และผู้ใหญ่ระดับแถวหน้าของวงการประกันภัยมารวมตัวกัน ซึ่งทุกท่านต่างขานรับและให้การสนับสนุนนโยบายของสำนักงาน คปภ. เป็นอย่างดี บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นและมิตรภาพที่ผมเองรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมาเรื่องของการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจประกันภัยต้องยอมรับว่าเรามักให้ความสำคัญกับผลประกอบการ และการแข่งขันของธุรกิจเป็นหลัก จึงให้ความสนใจไปที่การทำหน้าที่ของ CEO เป็นอันดับแรก ซึ่งจุดนี้เองที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองว่าจริงๆ แล้ว การสร้างความยั่งยืนในธุรกิจประกันภัย ไม่ได้อาศัยเพียงแค่ CEO เท่านั้น หากแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของกรรมการบริษัทเป็นหลัก เรื่องนี้จึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักงาน คปภ. ต้องผลักดัน และเป็นที่มาของเวทีสัมมนากรรมการบริษัทประกันภัยและผู้บริหารระดับสูง (CEO) ของบริษัทประกันภัยในครั้งนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อเชิญชวนกรรมการบริษัทประกันภัยทุกท่านให้เข้ามามีส่วนร่วมกับสำนักงาน คปภ. ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้พัฒนาการที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ แม้แต่ในด้านของหน่วยงานกำกับธุรกิจเอง ก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ต้องเร่งปรับเปลี่ยนกรอบแนวทางการกำกับให้สอดรับกับความเสี่ยงและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์การกำกับดูแลให้ดีที่สุดต่อผู้มีส่วนได้เสียในองค์รวมนั้น สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยต้องมีความร่วมมือที่ใกล้ชิด เพื่อช่วยกันสร้างกรอบแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย