วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 นายบัณฑิต สาครวิศวะ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย ร้อยตำรวจเอก ธนาบดี ธูปเทียนรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบังร่วมให้การต้อนรับ นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ในโอกาสติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการคัดกรองโรคไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี นายวีรชาติ พุทธรักษา ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ เป็นผู้รายงานผลการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ณ ห้องประชุม 1 อาคารบริหารท่าเรือแหลมฉบัง
นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ)ในการลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการคัดกรองโรคไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจาก ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะมองข้ามไม่ได้ เนื่องจาก ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือหลักของประเทศที่มีการดำเนินงานด้านการบรรทุกขนถ่ายสินค้า ทำให้มีปริมาณรถบรรทุกจำนวนมาก อีกทั้งการเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคไวรัสโคโรน่าภายในท่าเรือ ถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นช่องทางเข้าออกสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการของเรือสำราญ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เช่นกัน และกำชับให้ท่าเรือแหลมฉบัง ต้องมีมาตรการในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษในอากาศ และเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน
โดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียง ในการนี้ นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ ณ หอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง และลานจอดรถบรรทุก ในอาณาบริเวณเขตรั้วศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมทั้ง ลงพื้นที่ ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือแหลมฉบัง และ บริษัท เอ็น วาย เค ออโต้ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อติดตาม
การดำเนินการคัดกรองโรคไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่
โดยที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ในแผนเตรียมความพร้อมภาวะฉุกเฉินกรณีโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง รวมทั้ง มีการประชุมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ตัวแทนสายการเดินเรือ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบมาตรการและวิธีปฏิบัติด้านการคัดกรองโรคไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่
สำหรับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น ท่าเรือแหลมฉบัง ได้นำรถดับเพลิง ฉีดน้ำเป็นละอองฝอย และยังมีการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือให้เพิ่มมาตรการการควบคุมฝุ่นละออง PM 2.5 ขณะนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ลดค่าฝุ่น PM 2.5 (สเปรย์น้ำ) ณ บริเวณประตูตรวจสอบสินค้าทุกประตูของท่าเรือแหลมฉบัง อีกด้วย