กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า “อ่างทองแล้งหนักขาดน้ำผลิตประปา เกษตรกรหลายร้อยรายต้องยอมปล่อยพืชผลยืนต้นตาย เพื่อรักษาน้ำไว้ผลิตน้ำประปา ทำให้ชาวสวนมะม่วงส่งออกอ่างทอง เริ่มไม่พอใจการบริหารน้ำของชลประทาน เนื่องจากน้ำในระบบชลประทานที่ปล่อยมาเพื่อช่วยเกษตรกรชาวสวนมะม่วง ถูกชาวนาดักสูบน้ำไปทำนาหมด แม้จะประชาสัมพันธ์ให้งดทำนาปรังแล้วก็ตาม นั้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า แหล่งน้ำเพื่อการผลิตประปาของอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง อยู่ในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ที่รับน้ำมาจากแม่น้ำน้อย บริเวณหมู่ที่ 4 ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ เข้าคลองขนุนมีความยาวประมาณ 5.70 กิโลเมตร ซึ่งมีจุดสูบน้ำของการประปาอยู่บริเวณ กม. 2+200 จากการเข้าไปตรวจสอบและประสานการประปาอำเภอวิเศษชัยชาญ พบว่าระดับน้ำปัจจุบันสามารถสูบน้ำได้ และไม่ได้ส่งผลกระทบกับการผลิตน้ำประปาแต่อย่างใด
สำหรับกรณีสวนมะม่วงส่งออก ในอำเภอสามโก้ อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอแสวงหา นั้น อยู่ในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งที่เป็นไม้ผลและไม้ประดับ ประมาณ 1,500 ไร่ และกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ โดยที่ประชุมมีมติขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง สูบน้ำจากคลองส่งน้ำ 1 ขวา เข้าคลองส่งน้ำ 3 ขวา – 1 ขวา พร้อมกับการจัดรอบเวรการสูบน้ำ โดยการสูบน้ำที่ใช้เครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง จะทำการสูบน้ำ 22 ชั่วโมง/เครื่อง/วัน และจะหยุดพักเครื่องสูบน้ำ 2 ชั่วโมง/เครื่อง/วัน สลับหมุนเวียนกันไป แต่เนื่องจากระหว่างทางมีเกษตรกรติดตั้งเครื่องสูบน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณน้ำที่สูบในคลองส่งน้ำ 3 ขวา – 1 ขวา ลดลงอย่างรวดเร็ว จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่อำเภอแสวงหา อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอสามโก้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และตัวแทนเกษตรกร ประชุมสรุปแนวทางการให้ความช่วยเหลือร่วมกัน โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำช่วยเหลือพืชสวน มีการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์แนวทางการช่วยเหลือ ให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบ เพื่อปรับการสูบน้ำให้สัมพันธ์กับน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในคลองต่อไป
ส่วนกรณีที่กล่าวว่า เมื่อผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาชลประทานวิดน้ำให้ได้ แต่พอผู้ตรวจไปน้ำก็แห้ง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อำเภอแสวงหา อำเภอโพธิ์ทอง และอำเภอสามโก้ ซึ่งอยู่ในช่วงที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว แต่เนื่องจากมีการสูบน้ำระหว่างทางไปใช้ ทำให้ปริมาณน้ำในคลองลดลงอย่างรวดเร็ว จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์