กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีสื่อนำเสนอข่าว ชาวนาอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี พื้นที่นากว่า 30,000 ไร่รอดภัยแล้ง หลังได้รับน้ำจากคลองรังสิตทีมปทุมธานีเร่งสูบน้ำเข้าคลองนั้น ไม่เป็นความจริง แต่ชลประทานส่งน้ำช่วยเหลือให้พื้นที่อำเภอหนองเสือใช้เพื่อพืชสวนและพืชไร่เท่านั้น
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งในเขตอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ได้คลี่คลายลงแล้ว โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่มีการร้องเรียนก่อนหน้านี้ บริเวณคลองระบายน้ำที่ 7-12 ในเขตพื้นที่อำเภอหนองเสือ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยรับน้ำจากคลองรังสิตประยูศักดิ์ เพื่อใช้รักษาระบบนิเวศ ส่งน้ำให้พืชสวน พืชไร่ และไม้ยืนต้น ซึ่งโครงการฯรังสิตเหนือ ได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องและนาปรังโดยตลอด
โดยพื้นที่ที่ถูกอ้างถึงในข่าวดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและเคยมีกรณีร้องเรียนเรื่องการขาดแคลนน้ำมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง และทีมคนรักปทุม ได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งที่คลอง 11 เพื่อสูบน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ไปให้เกษตรกรใช้ เป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเบื้องต้น
จากนั้น กรมชลประทาน โดยโครงส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ได้จัดประชุมร่วมกับจังหวัดปทุมธานี หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนเกษตรกรจากคลอง 7-12 เข้าร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งอำเภอหนองเสือ เมื่อวันศุกร์ ที่ 3 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติให้มีการใช้น้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อส่งน้ำเข้าไปช่วยพืชสวน พืชไร่ ไม้ยืนต้นและรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น โดยต้องควบคุมและรักษาระดับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ไม่ให้ต่ำเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพของคันคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ทั้งนี้จังหวัดปธุมธานีได้ลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ตรวจสอบพื้นที่การเกษตรในอำเภอหนองเสือและอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันมีพืชสวน พืชไร่และไม้ยืนต้น ประมาณ 70,000 ไร่ ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ส่งเข้าไปหล่อเลี้ยงต้นพืช มิให้เกิดการยืนต้นตาย และปัจจุบันพบว่า นาข้าวที่มีการกล่าวถึงในข่าวดังกล่าว เป็นข้าวนาปีต่อเนื่องที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตและไม่มีการใช้น้ำแล้ว
กรมชลประทานจึงขอยืนยันว่า ยังคงจัดสรรน้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 62/63 อย่างเคร่งครัดและอยู่ในกติกาการบริหารจัดการน้ำในภาวะน้ำน้อยอยู่เสมอ ในการเน้นการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเพื่อการเกษตรเฉพาะพืชสวนยืนต้นเป็นหลักเท่านั้น ไม่ได้สนับสนุนน้ำเพื่อการทำนาข้าวในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพื่อสามารถมีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งและก่อนเข้าฤดูฝนในปี 2563 นี้
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1 กุมภาพันธ์ 2563