กรมสุขภาพจิต แนะใช้หลัก 3 ประการ ดูแลสุขภาพกาย-ใจ ในช่วงภาวะวิกฤตไวรัสโคโรนา

กรมสุขภาพจิต แนะใช้หลัก 3 ประการ คือ I am, I have และ I can ในการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ช่วงภาวะวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เน้นความตระหนักในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รู้วิธีจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีความรู้สามารถป้องกันตัวเองและสามารถแนะนำต่อผู้อื่นได้

วันที่ 31 มกราคม 2563 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ในขณะนี้เกี่ยวกับการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสปอดอักเสบอู่ฮั่น ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดมาจากประเทศจีน จนกระทั่งเข้ามาในประเทศไทยและอีกบางประเทศ ซึ่งมีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ มากมายหลากหลายช่องทาง ทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม ข่าวลือ โดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ดูเสมือนว่า สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความสับสน อลหม่าน ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ตกใจ ตามมาด้วยความกลัว เครียด และวิตกกังวล กรมสุขภาพจิต จึงขอแนะนำหลักทางจิตวิทยา ในการปรับตัวช่วงภาวะวิกฤต เพื่อเราจะได้อยู่อย่างตระหนัก ไม่ตื่นตระหนก หากเรามีความตระหนก จะทำให้ขาดสติ ไม่สามารถจัดการอะไรได้ แต่ถ้าเรามีสติ จะทำให้เราเกิดความตระหนักในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งสามารถป้องกันตัวเองและสามารถแนะนำต่อผู้อื่นได้ โดยประยุกต์ใช้หลัก 3 ประการ เพื่อดูแลสุขภาพกายและใจ ดังนี้

  1. I am คือ ตัวเรา พิจารณาโดยใช้สติว่า เราเองเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีหรือไม่ เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น ชรา ป่วย มีโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เราทำงานหรือมีกิจวัตรประจำวันที่เสี่ยงกับโรคนี้หรือไม่ เราสามารถหาความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ได้หรือไม่ เรามีคนที่คอยช่วยเหลือเราหรือไม่
  2. I have คือ เรามีอะไรอยู่บ้าง เราอยู่ในประเทศที่มีการควบคุมโรคที่ดีมากประเทศหนึ่งของโลก เรามีการให้ข้อมูลที่เป็นหลักเชื่อถือได้จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคที่คล้ายกัน คือ เชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) ซึ่งประเทศไทยได้ผ่านเหตุการณ์นี้ ด้วยหลักการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข โดยประเทศไทยมีระบบควบคุม กักกัน แยกโรคที่ดี และมีการดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการให้ความรู้ในการดูแล ป้องกันตนเอง มีระบบการรักษาที่ดีมาก สำหรับในประเทศไทยยังไม่พบผู้เสียชีวิต
  3. I can คือ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เราเองต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไป ควรต้องป้องกันตัวเอง โดยใส่หน้ากากอนามัย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำทุกครั้ง ถ้าเราเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้ดีแล้ว ก็สามารถจะแนะนำความรู้ต่อเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ และที่สำคัญต้องติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้จากหน่วยงานราชการสม่ำเสมอ แต่ไม่ให้มากจนเกิดความเครียด แนะนำให้ฟังเช้า และเย็น ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่สร้างหรือแชร์ข่าวปลอม โดยให้ช่วยกันแก้ไข เพื่อตัวเราและสังคมจะก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ เราต้อง “ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก” สังคมต้องการการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดความเครียดหรือวิตกกังวล สามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมงได้เช่นเดียวกัน อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

……………………………………………….