เรียนรู้ – ป้องกัน – ลดผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 อย่างปลอดภัย

ในช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่องเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน หลายพื้นที่มักประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในอากาศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและในเมืองใหญ่ เนื่องจากในช่วงนี้สภาพอากาศนิ่ง ไม่มีลมพัด ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ และมีตึกสูงจำนวนมาก จึงเกิดการสะสมปริมาณฝุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง มีผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละออง ดังนี้

การป้องกันการเกิดฝุ่นละออง

ไม่ทำกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ อาทิ เผาขยะ จุดธูปเทียน สูบบุหรี่ ประกอบอาหารโดยใช้เตาถ่าน

เพิ่มความชื้นในอากาศ อาทิ รดน้ำต้นไม้ ฉีดพ่นละอองน้ำ ปลูกพืชคลุมหน้าดิน จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ

หลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะขยะประเภทสารพิษ เพราะจะเพิ่มปริมาณหมอกควันในอากาศ

ลดการใช้ยานพาหนะ โดยใช้บริการขนส่งสาธารณะ ขี่รถจักรยาน หากขับรถให้เลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนสูง หรือใช้พลังงานทางเลือก

การลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง

ทำความสะอาดโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด หลีกเลี่ยงการใช้ไม้กวาด เนื่องจากทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

ปิดประตูและหน้าต่างที่พักอาศัยให้มิดชิด โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องระบายอากาศ เพื่อมิให้ฝุ่นละอองลอยเข้ามาในบ้าน

ใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ โดยสวมหน้ากากอนามัยที่กรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ตามมาตรฐาน N95 ซึ่งเป็นหน้ากากที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กมากได้

ลดหรืองดการประกอบกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่นละอองปกคลุมหนาแน่น

ไม่ออกกำลังกายและทำงานที่ต้องออกแรงมากในที่โล่งแจ้ง เนื่องจากการออกกำลังกายจะเพิ่มอัตราการหายใจมากขึ้นกว่าปกติ 10 – 20 เท่า ส่งผลให้ร่างกายจะสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปในปริมาณมาก

ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร เพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำ ลดภาวะเลือดหนืดที่ทำให้หัวใจและปอดทำงานหนัก

ไม่รองน้ำฝนมาอุปโภคบริโภค เพราะน้ำฝนอาจปนเปื้อนฝุ่นละอองและควันพิษที่ลอยอยู่ในอากาศ

ดูแลกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบพาไปพบแพทย์

จัดเตรียมยาที่จำเป็นไว้ให้พร้อม อาทิ ยาสามัญประจำบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและพกติดตัวไว้ หากอาการกำเริบ จะช่วยรักษาอาการในเบื้องต้น

สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากระคายเคืองตา แสบจมูก แน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์