รฟม. ร่วมบูรณาการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาและการบรรเทาผลกระทบจากปริมาณฝุ่นละออง ขนาดเล็ก (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

วันที่ 29 มกราคม 2563 พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พร้อมด้วย นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานในการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาและการบรรเทาผลกระทบจากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อันสืบเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการ “12 มาตรการแก้ฝุ่น PM 2.5” ให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5  โดยมีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัทผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทาน งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสายในความรับผิดชอบของ รฟม. เข้าร่วมประชุม  ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9  อาคาร รฟม.

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. กล่าวว่า รฟม. ในฐานะผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้สั่งการให้บริษัทผู้รับสัมปทาน/ผู้รับจ้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างทุกสาย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง หมั่นตรวจสอบค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ปฏิบัติงานและดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านฝุ่นละออง ที่ได้กำหนดไว้สำหรับงานโครงการฯ อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  1. งดกิจกรรมก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง พร้อมพิจารณาคืนผิวจราจรให้มากที่สุด โดยให้ประสานตำรวจจราจรอย่างใกล้ชิดในการเพิ่มความคล่องตัวของการจัดจราจร เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด อันเป็นสาเหตุหลักของการสะสมปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ
  2. ทำความสะอาดถนนสาธารณะโดยการใช้รถดูดฝุ่น ควบคู่กับการกวาดและการฉีดล้างเป็นประจำ
  3. หมั่นตรวจสอบสภาพเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้างให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม
  4. ติดตั้งแผงป้องกันฝุ่นละอองเป็นรั้วทึบรอบพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองออกไปยังถนนสาธารณะ และหมั่นทำความสะอาดผ้าใบที่ปิดกั้นอย่างสม่ำเสมอ
  5. ปิดคลุมกระบะรถบรรทุกและทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้างทุกครั้ง
  6. ปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้างให้มิดชิด
  7. ห้ามไม่ให้ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ หากไม่มีการปฏิบัติงาน
  8. ติดตั้งเครื่องฉีดพ่นหมอกน้ำ/ละอองน้ำในอากาศ บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง

นอกจากนี้ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. และ พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานตามมาตรการสิ่งแวดล้อมด้านฝุ่นละอองที่สถานี รฟม. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ  บริเวณด้านหน้าสำนักงาน รฟม.  โดยได้กำชับให้ รฟม.และผู้รับจ้างวางแผนขั้นตอนการก่อสร้างให้เหมาะสมแต่ละช่วงเวลา เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางและลดปัญหาการจราจร โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็นที่มีปริมาณรถเป็นจำนวนมาก และประสานตำรวจจราจรในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการจัดจราจร บรรเทาปัญหาจราจรติดขัดอันเป็นสาเหตุหลักของการสะสมปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ


กองสื่อสารองค์กร สำนักผู้ว่าการ