กรมอนามัย  เล็ง ‘พ่อแม่ ผู้ปกครอง – ครู’ กลุ่มหลัก ช่วยเด็กลดสูดฝุ่น

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู คือกลุ่มหลักสำคัญ ที่ช่วยป้องกันสุขภาพเด็ก พร้อมแนะในช่วงที่ค่าฝุ่นสูงให้ใส่ใจเด็กเล็กเป็นพิเศษ โดยให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันลดการ  สูดฝุ่น

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ในส่วนพื้นที่  5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแพร่  ลำปาง  น่าน  พะเยา และตาก มีค่าฝุ่นสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งจะเริ่ม มีผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM2.5 คือตั้งแต่ระดับสีเขียวเป็นต้นไป พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู จึงเป็นบุคคลหลักสำคัญที่จะช่วยป้องกันสุขภาพเด็กจากฝุ่น เพราะเด็กยังไม่สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ และเนื่องจากเด็กมีความอ่อนแอและภูมิต้านทานต่ำ ปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ อัตราการหายใจถี่ และมีผิวหนังบอบบางกว่าผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ และเด็กยังมีพฤติกรรมเคลื่อนไหวมากกว่าผู้ใหญ่ เช่น การวิ่งเล่น การกระโดด การปีนป่าย ในสนามหรือนอกอาคาร ทำให้เด็กมีการหายใจรับมลพิษอากาศมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของปอดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็ก

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ และการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM2.5 จากเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข หากพบค่าตั้งแต่ระดับสีเขียวขึ้นไป และไม่ควรให้เด็กทำกิจกรรมนอกอาคารหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง และถ้าค่าฝุ่นสูงมากต้องป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธี ซึ่งหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 สำหรับเด็กมีทั้งขนาดปกติและขนาดเล็ก โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องพิจารณาขนาดของหน้ากากให้เหมาะกับรูปหน้าของเด็ก ลักษณะของหน้ากากต้องไม่มีกลิ่นผิดปกติ ไม่เปรอะเปื้อนและไม่มีตำหนิ สายคล้องหรือสายรัดศีรษะต้องไม่ฉีกขาด  และต้องไม่มีส่วนใดหลุดออกจากหน้ากาก แถบปรับกระชับดั้งจมูก ต้องยึดแน่น ครอบได้กระชับทั้งจมูก ใต้คาง และแนบไปกับใบหน้า ทั้งนี้ ต้องคอยสังเกตอาการของเด็ก หากพบว่าผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี้ด ให้รีบพาไปพบแพทย์ ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

“สำหรับโรงเรียน หากฝุ่นอยู่ในระดับสีเขียว ให้ครูพิจารณาในกลุ่มนักเรียนที่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือด เช่น หอบหืด ควรลดการเรียนพลศึกษาและกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าค่าฝุ่นสูงมากให้นักเรียนทุกคนลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การเข้าแถวหน้าเสาธง และการออกกำลังกายกลางแจ้ง ทั้งนี้โรงเรียนควรมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดฝุ่นละออง ได้แก่ งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น งดการเผาใบไม้ เผาขยะ เป็นต้น ขอความร่วมมือผู้ปกครองจอดรถรับ-ส่งนอกสถานศึกษา หากจำเป็นต้องนำรถเข้ามาจอด ให้ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ ขอความร่วมมือร้านค้าแผงลอย ปิ้งย่างโดยใช้เตาไร้ควัน และปลูกต้นไม้บริเวณโรงเรียน/จัดสวนแนวตั้ง เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษอากาศ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

……………………………………………….

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 29 มกราคม 2563