ชป.เดินหน้าก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักฯ หวังมีน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง ในพื้นที่จังหวัดเลย

กรมชลประทาน เดินหน้าก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย หวังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและบรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก เร่งก่อสร้างประตูกั้นลำน้ำเดิมให้เสร็จก่อน ช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังจากได้รับรายงานจากนายยุทธนา มหานุกูล  ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 ที่รับผิดชอบงานก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลยว่า งานก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก ตามแผนจะแล้วเสร็จในปี 2565 แต่ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในแม่น้ำเลยบางส่วน ไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงทั้งหมด จึงได้เร่งรัดการก่อสร้างประตูลำน้ำเดิม(ประตูกั้นแม่น้ำเลย)ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 เพื่อให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนอย่างเข้มข้น เพื่อให้รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อโครงการฯแล้วเสร็จ ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปพอสมควรแล้ว คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้

สำหรับโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้น ประกอบไปด้วยการก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นระหว่างลำน้ำเลยกับแม่น้ำโขง จำนวน 5 ช่อง กว้าง 15 เมตร สูง 13.2 เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยในช่วงฤดูน้ำหลาก จะยกบานประตูน้ำขึ้น เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเลยลงสู่แม่น้ำโขง ส่วนในช่วงที่น้ำในแม่น้ำโขงสูง จะทำการปิดบานประตูระบายน้ำลง เพื่อกั้นน้ำจากแม่น้ำโขงไม่ให้ไหลเข้ามาในแม่น้ำเลย นอกจากนี้ ประตูระบายน้ำแห่งนี้ จะทำหน้าที่สำคัญในการทดน้ำเพื่อเก็บกักน้ำในแม่น้ำเลยไว้ใช้ในฤดูแล้งของทุกปี ซึ่งในส่วนของประตูระบายน้ำลำน้ำเดิม จะมีประตูระบายน้ำจำนวน 2 ช่อง กว้าง 10 เมตร สูง 12.5 เมตร แบบให้เรือสัญจรผ่านได้ มีขีดความสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 400 ลบ.ม.ต่อวินาที

ทั้งนี้ หากโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักฯแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค การบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก และยังช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้อีกกว่า 72,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 44 หมู่บ้าน 7 ตำบลของอำเภอเชียงคาน ประชากรได้รับประโยชน์รวมกว่า 9,200 ครอบครัว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอเชียงคาน ที่จะสามารถสร้างรายได้และประโยชน์สูงสุดให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้อีกด้วย  

…………………………………..

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

29 มกราคม 2563