เนื้องอกมดลูก รู้ทันรักษาก่อน

กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี แนะผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก เพราะการตรวจพบในระยะเริ่มแรกมีผลดีต่อการรักษา เนื้องอกที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีไม่ใช่เนื้อร้าย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื้องอกมดลูก เป็นก้อนเนื้อที่เจริญเติบโตผิดปกติ โดยเกิดได้ที่ผิวด้านนอกผนังมดลูก อยู่ในเนื้อมดลูก หรืออยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งผู้หญิงช่วง อายุ  30 -45 ปี มีความเสี่ยงมากที่สุด สำหรับอาการของเนื้องอกมดลูก ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ แต่บางรายก็อาจมีอาการเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด หรือจำนวนของเนื้องอก โดยอาการที่มักพบได้ เช่น ประจำเดือนมากกว่าปกติ รู้สึกแน่นหรือปวดบริเวณท้องน้อย หรือท้องน้อยมีขนาดโตขึ้น ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะลำบาก ปวดหลัง หรือปวดขา ท้องผูก ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรเข้าพบแพทย์ทันที การวินิจฉัยของแพทย์นั้นทำได้จากการตรวจภายใน และยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวด์  ซึ่งถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกที่เนื้องอกยังมีขนาดเล็ก การรักษาก็จะทำได้ง่ายกว่า

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเสริมว่า การรักษาเนื้องอกมดลูก แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ลักษณะของเนื้องอก อัตราการเติบโตของเนื้องอก รวมถึงปัจจัยของผู้ป่วย เช่น อายุ ความต้องการมีบุตร เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจรักษาได้ด้วยการรับประทานยา แต่บางรายอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดเนื้องอกออก หรืออาจจะต้องตัดมดลูกออก ในบางกรณี เช่น เนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก หรือมีเลือดออกมาก เป็นต้น ปัจจัยของการเกิดเนื้องอกมดลูกนั้น มีหลายปัจจัย เช่น การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด อาจจะเพิ่มการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกได้ กรรมพันธุ์ ฮอร์โมนเพศหญิง หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เสริมฮอร์โมนเพศหญิงมากเกินไป เนื้องอกที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีไม่ใช่เนื้อร้าย ความอันตรายของเนื้องอกมดลูก คือ การที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่แล้วไปมีผลต่อการทำงานของอวัยวะส่วนอื่น เช่น ถ้าเบียดกระเพาะปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ออกไม่มาก หรือบางรายประจำเดือนมากกว่าปกติ จนบางครั้งเกิดภาวะซีดรุนแรงหรือเรื้อรัง ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก เพราะการตรวจพบในระยะเริ่มแรกมีผลดีต่อการรักษา

……………………..