กรมชลประทาน เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุบโภค-บริโภค ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และสุพรรณบุรี ด้าน จ.อ่างทอง รุกสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำให้กับทุกภาคส่วน ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ พร้อมนำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และรถยนต์บรรทุกน้ำเข้าไปช่วยเหลือประชาชน อาทิ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา ได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 2 คัน เข้าไปให้ความช่วยเหลือการอุปโภค-บริโภค ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตีนนก หมู่ 4 ตำบลหนองตีนนก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 8 เที่ยว ปริมาณน้ำสะสมตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2563 รวมทั้งสิ้น 198,000 ลิตร ส่วนกรณีที่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มประสบกับปัญหาแคลนน้ำในการผลิตน้ำประปา จึงต้องมีการลำเลียงน้ำผ่านคลอง 13 ไปเติมน้ำให้คลองพระองค์ไชยยานุชิต และคลองนครเนื่องเขต เพื่อสำรองน้ำให้แก่สถานีสูบน้ำ เพื่อผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาบางคล้า และสาขาบางปะกง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ตลอดสายคลอง 13 งดการใช้น้ำจากคลอง 13 ทุกกรณี เป็นเวลา 7 วัน จนกว่าการลำเลียงน้ำไปถึงประปาทั้ง 2 แห่ง โดยเริ่ม ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2563 เวลา 0600 น. ถึงศุกร์ที่ 31 มกราคม 2563 เมื่อสามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาได้แล้ว จะให้สลับน้ำให้ผู้ใช้น้ำในคลอง 13 ตอนล่างใช้น้ำได้ตามสัดส่วน สำหรับอุปโภค บริโภค โดยแบ่งเป็นรอบเวรการใช้น้ำ และยังส่งน้ำไปพื้นที่ตอนล่างเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตประปาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรรับทราบและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ที่จังหวัดสุพรรณบุรี กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง สูบน้ำช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่หมู่ 3 ต. โคกโคเฒ่า อ.เมือง ดโดยใช้ และพื้นที่หมู่ 4 ต.บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ ชึ่งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา และ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก
ส่วนที่จังหวัดอ่างทอง โครงการชลประทานอ่างทอง ได้ร่วมประชุมการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562 – 2563 ร่วมกับคณะทำงานบริหารจัดการน้ำจังหวัดอ่างทอง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั้งในเขตชลประทาน และเขตนอกชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูล เป็นกรอบในการปฏิบัติให้เกิดความแม่นยำในการบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิด ติดตามข้อมูลการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ พร้อมทั้งสำรวจสถานการณ์น้ำจากแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคทางการเกษตร วิเคราะห์และประเมินผลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ รวมไปถึงการรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ รวมไปถึงครื่องจักรเครื่องต่างๆ ไว้ประจำโครงการชลประทานทั่วประเทศ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่หน่วยงานของกรมชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้านได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้
…………………………………………
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
28 มกราคม 2563