รองนายกฯพล.อ.ประวิตรฯ นำทีมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งเมืองเชียงใหม่

วันที่ 25 ม.ค. 63 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร.สุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1  กรมชลประทาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ดร.สุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆอยู่ในเกณฑ์น้อย สำนักงานชลประทานที่ 1 จึงได้การวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยจะเน้นสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำปิงเป็นหลัก รวมทั้งสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้า หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงต้นฤดู

สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) (เริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. – 1 ก.ค. 63) นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแหล่งเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในภาวะวิกฤติอีก 10 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบให้กับการผลิตประปาของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับกำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ ขอความร่วมมือให้งดปลูกพืชใช้น้ำมากและส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน การวางแผนจัดสรรน้ำให้ภาคการผลิตประปาให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง การควบคุมระดับน้ำ/การปิดกั้นทางน้ำในแม่น้ำปิงที่อาจเป็นอุปสรรคในการส่งน้ำ การขอให้เกษตรกรงดเลี้ยงปลาในกระชัง การเฝ้าระวังการระบายน้ำเน่าเสียลงสู่แม่น้ำปิง และการขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำให้ปฏิบัติตามแผนการใช้น้ำแต่ละรอบเวรที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อให้ความช่วยเหลือพื้นที่แล้งภัย รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ แก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2562/63 สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำอีก 10 แห่ง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แม้ว่าในขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ จะยังไม่มีพื้นที่ที่ประกาศภัยแล้งก็ตาม แต่ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของน้ำให้มากที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าอย่างไม่ขาดแคลน  

******************************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

25 มกราคม 2563