ครูพี่โอ๊ะเยี่ยมชมศูนย์ฯ เพลาเพลินเพื่อชุมชน หวังใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ “กัญชา-กัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด”

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 16.30 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปเยี่ยมชม “ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพร เพลาเพลินเพื่อชุมชน” อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ในการเป็นแหล่งบูรณาการการเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนในหลักสูตรรายวิชาเลือก “กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด” ซึ่งจะเริ่มจัดการเรียนการสอนแก่ผู้เรียน กศน.ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้นับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญ หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการพยายามผลักดันนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 “ให้มีการช่วยเหลือเกษตรกร และพัฒนานวัตกรรม เร่งศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ของประชาชน โดยกำหนดกลไกการดำเนินงานที่รัดกุม เพื่อมิให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด”

จากนั้นเมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยของ กศน. จึงได้จุดประกายความคิดเรื่อง การผลิตหลักสูตร “กัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเริ่มจากผู้เรียน กศน. และประชาชน ให้ได้เข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง พร้อมตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และทุกภาคส่วน มาร่วมบูรณาการกัญชาในการเรียนวิทยาศาสตร์ ทั้งวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา พร้อมทั้งเครือข่ายต่าง ๆ ที่จะเป็นฐานการเรียนรู้ ตั้งแต่การปลูก การเพาะพันธุ์ การสังเคราะห์ การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไปจนถึงโทษของกัญชาที่เกิดจากการใช้ผิดวิธี

และภายในเวลาเพียง 5 เดือนกว่า สำนักงาน กศน.กรุงเทพมหานคร ร่วมกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้พัฒนาหลักสูตรรายวิชาเลือก ทช 33098 กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด สำหรับจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เสร็จสมบูรณ์ พร้อมหนังสือเรียนสาระทักษะการดำเนินชีวิต และคู่มือการใช้หลักสูตร นำไปสู่การจัดโครงการพัฒนาครูผู้สอนหลักสูตรรายวิชาเลือกฯ แก่ผู้บริหารสำนักงาน กศน.จังหวัด กศน.เขต/อำเภอ ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ กศน. จำนวน 685 คนจาก 63 จังหวัด เมื่อช่วงวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อให้นำองค์ความรู้ไปสร้างความรู้ความเข้าใจ ในเป้าหมายของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกัญชาและกัญชงสำหรับนักศึกษา

“จากลำดับความเป็นมาข้างต้น จึงนำมาสู่การเยี่ยมชม ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพร เพลาเพลินเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่สำคัญ ของอำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และช่วยสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนหลักสูตร กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด อย่างรอบด้าน ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลคูเมือง และภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการเองก็ได้จัดอบรมครูผู้สอน กศน. จาก 63 จังหวัด ให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดสู่ผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง มีความพร้อมที่จะนำหลักสูตรไปจัดการเรียนการสอน ในช่วงเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 ที่จะถึงนี้

และต้องยอมรับว่า กระแสการจัดหลักสูตรรายวิชาเลือก ทช 33098 กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด เป็นที่สนใจของผู้เรียน กศน.และประชาชนที่ไม่ได้เรียน กศน.เป็นจำนวนมาก จึงเตรียมที่จะหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขยายไปสู่ประชาชนผู้สนใจให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ

นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึงความก้าวหน้าการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ ตามรูปแบบ “บุรีรัมย์โมเดล” ว่า จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ ทั้งการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนพันธุ์บุรีรัมย์ เพื่อระดมทุนไว้สำหรับจัดกิจกรรมขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลาง ในการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 อนุญาตให้มีการใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อประโยชนทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วยการใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย

ทั้งนี้ โรงพยาบาลคูเมือง เป็นโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการผลิตยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน WHO จึงได้รับมอบหมายให้ผลิตน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ โดยร่วมกับศูนย์กลางพัฒนาสมุนไพร เพลาเพลินเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ที่ปลูกกัญชาสำหรับเป็นวัตถุติบในการผลิตยา นับเป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับวิสาหกิจชุมชนครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลคูเมืองได้ผลิตยากัญชา รวม 6 ตำรับ พร้อมทั้งร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ศูนย์กลางพัฒนาสมุนไพร เพลาเพลินเพื่อชุมชน ในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการขออนุญาตปลูกกัญชา และให้ความรู้ในกลุ่ม อสม. ครบทั้ง 23 อำเภอ ไปจนถึงร่วมกับ กศน.อำเภอคูมือง และสถานศึกษาในอำเภอคูเมือง จัดอบรมให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา โดยการสนับสนุนด้านวิชาการจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี และมหาวิทยาลัยรังสิต และงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข และองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดบุรีรัมย์ครบทุกแห่ง ด้วย

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
25/1/2563