วันที่ 23 มกราคม 2563 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยมี นายพฤทธิพงศ์ ทัศน์อัญชุลีกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานให้การต้อนรับ ณ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำยมตอนบน ที่กรมชลประทานได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษามาตั้งแต่ปี 2558 อยู่ในเขตพื้นที่บ้านนาหลวง ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เพื่อแก้ปัญหาแล้ง-น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในทุกปี และจากผลการศึกษาตามลำห้วยเป้าต่อเนื่องห้วยแม่เต้น มีฝายทดน้ำอยู่ 18 แห่ง แต่สามารถใช้งานได้ 12 แห่ง เก็บกักน้ำหน้าฝายไว้ได้รวม 28,600 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
ขณะเดียวกันพื้นที่เกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำมีอยู่กว่า 2,310 ไร่ จึงจำเป็นต้องสร้างโครงการอื่นเพิ่มอีก เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคตกว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และโครงการที่มีความเหมาะสมคือ โครงการประเภทอ่างเก็บน้ำ เพราะมีศักยภาพสูงในการเก็บกักและบริหารจัดการน้ำ โดยการพิจารณาเบื้องต้นจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐศาสตร์ ระดับเก็บกักที่เหมาะสมคือ +496.00 ม.รทก. สามารถเก็บกักน้ำได้ 2.35 ล้านลูกบาศก์เมตร มูลค่าการลงทุน 97.34 ล้านบาท
และที่สำคัญการก่อสร้างระบบชลประทานจะใช้ระบบท่อส่งน้ำ ท่อชนิด HDPE แม้ว่าระบบคลองส่งน้ำจะมีค่าก่อสร้างต่ำกว่า แต่การก่อสร้างมีข้อจำกัดในด้านสภาพภูมิประเทศ พื้นที่เกษตรกรรมมีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาด แนวคลองตัดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ฉะนั้นระบบชลประทานที่เหมาะสมของโครงการจึงจะเป็นระบบท่อส่งน้ำ ซึ่งจะกระทบต่อป่าสงวนไม่มากนัก การกัดเซาะพื้นผิวดินน้อยลง เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่พบว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเป้ามีพื้นที่หัวงาน จำนวน 68 ไร่ อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม 39 ไร่ (ร้อยละ 57.35 ของพื้นที่หัวงาน) อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอง 29 ไร่ (ร้อยละ 42.65 ของพื้นที่หัวงาน) และอ่างเก็บน้ำ จำนวน 90 ไร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมทั้งหมด 90 ไร่ (ร้อยละ 100 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำ)
สำหรับรูปแบบที่เหมาะสมกับการสร้างนั้น เป็นเขื่อนประเภทคอนกรีตหรือเขื่อนประเภท RCC และเขื่อนคอนกรีต (Concrete Gravity Dam)สูง 45 เมตร ความยาวสันเขื่อน 320 เมตร ลาดท้ายเขื่อน 1 : 0.8 ระดับสันเขื่อน +500.00ม.รทก. ความจุอ่างที่ระดับน้ำสูงสุด 2.49 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า พื้นที่รับประโยชน์ที่จะได้จากการสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเป้ารวมทั้งหมด 2,814 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 2,310 ไร่ คาดว่าในอนาคต 30 ปี (ปี พ.ศ. 2591) เมื่อมีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยเป้าแล้ว จะมีการพิจารณาการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมอื่นอีก โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่เกษตร พื้นที่รับประโยชน์ระบบฝายเดิม 1,000 ไร่ เป็น 1,784 ไร่ พื้นที่ในระบบท่อส่งน้ำจาก 1,173 ไร่ เพิ่มเป็น 1,935 ไร่ และพื้นที่ที่ชาวบ้านสูบน้ำใช้เอง 137 ไร่ เพิ่มเป็น 238 ไร่
ทั้งนี้ ขอบเขตการศึกษาของโครงการครอบคลุมชุมชน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านนาฝาย หมู่บ้านนาหลวง หมู่บ้านแม่เต้น และหมู่บ้านดอนชัยสักทอง ที่มีความต้องการใช้น้ำอุปโภค-บริโภค ประมาณ 95,962 ลูกบาศก์เมตร/ปี และในอนาคต 30 ปี พ.ศ. 2591 จะ มีความต้องการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคประมาณ 103,168 ลูกบาศก์เมตร/ปี รวมไปถึงปริมาณน้ำดิบที่ต้องใช้ผลิตน้ำประปาปัจจุบันจะมีความต้องการ 137,089 ลูกบาศก์เมตร/ปี และในอนาคต 30 ปี จะมีความต้องการเพิ่มเป็น 147,383 ลูกบาศก์เมตร/ปี
อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า อาจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น จึงต้องดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งในช่วงระยะก่อสร้าง ระยะดำเนินการ เพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดประโยชน์สูงสุด
…………………………………………………
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์