จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าเมื่อ 10,000 ล้านปีที่แล้ว มนุษย์ในยุคแรกเป็นพวก “ชนเผ่าเร่ร่อน ล่าสัตว์” ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ และกินพืชนานาพันธุ์เป็นอาหาร
นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์มีวิวัฒนาการในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา หลังจากยุคนั้นมนุษย์เริ่มหาเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ของตัวเอง แทนที่การออกไปล่าสัตว์หรือหาพืชพันธุ์ธัญญาหารตามแหล่งธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพ แต่อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวมนุษย์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่มีบทบาทและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์เสมอ
มิใช่เพียงแต่การใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของสภาพแวดล้อม จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น โดยลักษณะของการเปลี่ยนแปลงนี้ มีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย
กิจกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติรอบ ๆ ตัว และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ สภาพสิ่งแวดล้อม อากาศ และน้ำทั้งสิ้น สำหรับผลกระทบโดยตรงที่ทวีความเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน การที่อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุให้อากาศในโลกเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ในความเป็นจริงสภาวะโลกร้อนมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ผลกระทบนี้ ส่งผลเป็นวงกว้างไปทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยปัจจัยสำคัญหลักที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ปรากฏการณ์เรือนกระจก คือ เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมาที่โลก และมีก๊าซประเภทคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน CFC และ Nitrous Oxide (N2O) ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งกักเก็บความร้อนเอาไว้ ไม่ให้สะท้อนออกไป ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ซึ่งเปรียบเสมือนกับการใช้เรือนกระจกเพื่อปลูกต้นไม้ในเมืองหนาว โดยก๊าซเหล่านี้จะทำลายชั้นโอโซน จึงทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตและอินฟราเรดส่องผ่านลงมายังโลกมากขึ้น เนื่องจากไม่มีชั้นโอนโซนในการคัดกรอง และในขณะเดียวกันก๊าซเหล่านี้ยังขวางกันมิให้รังสีอื่นแผ่ออกไปจากบรรยากาศของโลก รังสีเหล่านี้เมื่อรวมตัวกันจึงกลายเป็นพลังงานความร้อน ทำให้อุณหภูมิบนพื้นโลกยิ่งสูงขึ้น
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน มิได้มีผลกระทบต่อสังคมมนุษย์เท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงระบบการทำงานทางธรรมชาติอีกด้วย อาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิในโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งสิ่งมีชีวิตบนโลกที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น สัตว์บางสายพันธุ์จึงได้สูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีคำพยากรณ์ไว้ว่า หมู่เกาะมัลดีฟ หรือ สาธารณรัฐมัลดีฟ (Republic of Maldives) ซึ่งเป็นเกาะสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ลักษณะเป็นหมู่เกาะที่มีงดงามเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทางทะเล และถือได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก กำลังจะจมหายไปภายในระยะเวลา 100 ปีข้างหน้านับจากนี้ หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นอาจอยู่ที่ประมาณ 50-80 ปี ข้อมูลจากการคาดการณ์ของ IPCC หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme, UNEP) และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization, WMO) จากการสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่ามีระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกจากปรากฏการณ์เรือนกระจกนี้ ส่งผลกระทบไปเป็นวงกว้างทั่วโลก ประเทศไทย ประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2552 มีผลกระทบต่อประชาชนถึง 9.2 ล้านคน ใน 63 จังหวัดทั่วประเทศ พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายกว่า 5 ล้านไร่ น้ำในเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา แห้งขอดเป็นเวลายาวนาน
ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนสำหรับในประเทศไทยนั้น ยังส่งผลให้เกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม และนอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ฤดูหนาวก็จะมีช่วงเวลาที่สั้นลง ภาคใต้ที่เคยมีสมญานามว่า ฝน 8 แดด 4 ซึ่งหมายถึง ภาคใต้มีฤดูฝน 8 เดือน และฤดูร้อน 4 เดือนนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงคือ มีฝนตกชุกมากขึ้น มีฤดูฝนที่ยาวนานขึ้นและอาจทำให้เกิดอุทกภัยบ่อยครั้งตามไปด้วย ในขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับเผชิญกับความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำบริโภคอุปโภคอันเนื่องมาจากจากผลกระทบดังกล่าว ซึ่งความแห้งแล้งนี้อาจจะนำมาซึ่งไฟป่าที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย
ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ เริ่มเข้ามามีบทบาท ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สำหรับในประเทศไทยก็เช่นกัน ผลสืบเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่ลดน้อยลง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม มลภาวะที่เป็นพิษเข้ามาแทนที่ ส่งผลให้หลายหน่วยงานเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ที่ผ่านมาทรัพยากรทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมถูกทำลายไปพร้อม ๆ กับการเจริญเติบโตของประเทศ ทรัพยากรบางชนิดหมดสิ้นไปโดยมิได้มีการสร้างใหม่ขึ้นมาทดแทน ดังนั้นเมื่อทรัพยากรยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่องแต่มิได้มีสิ่งใดขึ้นมาทดแทน ท้ายที่สุดทรัพยากรนั้นจะสูญสิ้นหมดไปตามกาลเวลา การเจริญเติบโตของประเทศ เป็นตัวแปรหลักในการใช้ทรัพยากร ธุรกิจหลาย ๆ ประเภทมีผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการ
โรงแรมถือเป็นธุรกิจบริการประเภทหนึ่งซึ่งมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสูง เมื่อเทียบกับธุรกิจบริการประเภทอื่น ๆ การขยายตัวของธุรกิจโรงแรมเป็นไปอย่างรวดเร็วจึงทำให้เกิดผลกระทบเป็นต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในโรงแรมต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานจำนวนมาก โรงแรมถือได้ว่าเป็นสถานประกอบการที่ปล่อยของเสียและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น น้ำเสียจากห้องพัก ห้องครัว สระว่ายน้ำ อีกทั้งยังมีในส่วนของปฏิกูลจากเศษอาหารที่มาจากห้องครัวของโรงแรม รวมถึงขยะทั่วไปจาก ขวดพลาสติก แก้วน้ำ และอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดตั้งโครงการ “การบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเภทโรงแรม (Green Hotel)” เพื่อส่งเสริมโรงแรมให้มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังช่วยในการยกระดับมาตรฐานการบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยหลายโรงแรมเริ่มตื่นตัวและเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันหลายโรงแรมประกาศเป็นโรงแรมสีเขียว (Green Hotel) โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย มีการลดปริมาณของเสียในรูปแบบต่าง ๆ โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ
หากเทียบกลับในอดีตที่ผ่านมา ทุกองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยสามารถลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ลดการสร้างขยะและทำลายสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ และผู้เขียนยังเชื่ออีกว่าแม้โลกใบนี้อาจจะไม่ได้กลับมามีความร่มรื่น ร่มเย็นเหมือนในอดีตกาลในทันที แต่ถ้าทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรช่วยกัน บรรยากาศเหล่านั้นก็จะกลับมาในอีกไม่นาน…
ที่มา:นิตยสารThailand Plus
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Google และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม