กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยสถิติการใช้สมุนไพรของคนไทยทั๋วประเทศ เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องนโยบายรัฐบาลให้สมุนไพรไทย เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้เพิ่มขึ้น
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสนใจเรื่องสมุนไพรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การนำสมุนไพรไทยมาใช้เป็นยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง จะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศที่ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เข้ามาจำหน่ายและเป็นการพึ่งตนเองโดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษไทย หากผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้จำนวนมาก จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาลจะเห็นว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรกันอย่างมากมาย เนื่องจากความคิดที่จะกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1(พศ.2560 – 2564) ซึ่งจัดทำขึ้นตามแนวทางประชารัฐอย่างบูรณาการ จะเป็นแนวทางในการกำหนดภารกิจแผนงานของส่วนราชการองค์กรเอกชนสู่การขับเคลื่อนอย่างมีเอกภาพตลอด 5 ปีข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์มาตรการและแผนงานต่างๆที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทย ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางเพื่อให้สมุนไพรไทยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์สมุนไพรของภูมิภาคอาเซียน และผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว
ปัจจุบันประชาชนทั่วไปนิยมใช้สมุนไพรไทยและใช้บริการการแพทย์แผนไทยเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งจากฐานข้อมูลการใช้บริการการแพทย์แผนไทย ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการการแพทย์แผนไทยฯในโรงพยาบาลทุกระดับ กว่า 32 ล้านครั้ง จากจำนวนผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มารับบริการกว่า 164 ล้านครั้ง คิดเป็นร้อยละ 19.75 และมีการใช้ยาสมุนไพรเพิ่ม 406 ล้านบาท จากกว่า 1,700 ล้านบาทในปี 2559 เป็นกว่า 2,000 ล้านบาท ในปี 2560
สำหรับมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปี 2560 แบ่งเป็น เครื่องสำอาง 192,600 ล้านบาท อาหารเสริม 51,848 ล้านบาท และยาสมุนไพร 7,548 ล้านบาท รวมมูลค่าการใช้สมุนไพรทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 254,830 ล้านบาท
จากการดำเนินงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า สามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายเชิงมูลค่าที่ได้ตั้งไว้ในแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งในปี 2560 มูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมูลค่าถึง 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกสมุนไพร มูลค่าประมาณ 215 ล้านบาท พื้นที่กว่า 3,000 ไร่ , ผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างน้อย 281.6 ล้านบาท,ผู้ประกอบการ OTOP/SME/อุตสาหกรรมสมุนไพรได้รับการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 40 กิจการ/กลุ่ม และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยและยาสมุนไพรที่มีมาตรฐานต่อไป