กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ตั้ง “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63 สำนักงานชลประทานที่ 6” เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อีสานกลาง พร้อมเดินหน้าโครงการผันน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ สนับสนุนการผลิตประปาเมืองมหาสารคาม ลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังได้รับรายงานจากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ที่มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดภาคอีสานกลาง(ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์) ได้เปิด “ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63 สำนักงานชลประทานที่ 6” ตามนโยบายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการ ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนด้วย ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องจักร และเครื่องมือต่างๆ รวม 155 รายการ ประจำไว้ที่โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัดแล้ว เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
สำหรับโครงการ “ผันน้ำลำปาว ช่วยอุบลรัตน์สู้ภัยแล้ง” เป็นอีกมาตรการที่จะช่วยลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ให้น้อยกว่าแผนเดิม โดยการใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนลำปาว ส่วนที่ระบายออกจากแปลงนาหลังหว่านข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานเขื่อนลำปาว เป็นลักษณะการใช้น้ำรอบสอง ซึ่งจะไม่กระทบกับแผนการระบายน้ำไปช่วยลุ่มน้ำชีตอนล่าง ทั้งนี้ น้ำส่วนที่ระบายออกจากแปลงนาส่วนนี้จะไหลกลับลงลำปาว และลงแม่น้ำชีบริเวณหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด จากนั้นจะยกระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ดให้สูงกว่าระดับเก็บกัก 1 เมตร เพื่อให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนวังยาง มีระดับสูงกว่าหรือใกล้เคียงระดับน้ำเหนือเขื่อนร้อยเอ็ด แล้วสูบน้ำย้อนกลับจากท้ายเขื่อนวังยางไปเก็บกักไว้ที่หน้าเขื่อนวังยาง ด้วยเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 6 เครื่อง อัตราการสูบวันละ 180,000 ลูกบาศก์เมตร เริ่มทดลองสูบน้ำมาตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 63 และจะสูบไปจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 63 ซึ่งจะสามารถลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ลงได้วันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร รวมแล้วจะช่วยลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ได้ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนบริเวณหน้าเขื่อนวังยางได้ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังเป็นการรักษาระดับน้ำให้กับการประปาสาขาเมืองมหาสารคาม และประปาหมู่บ้าน เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและร้อยเอ็ดบางส่วน ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWIC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์