นิสิต ศิลปกรรม มศว. สุดครีเอท ! โชว์แนวคิดแนะแยกขยะ ผ่านศิลปะการแสดง

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเรื่องราวที่ถูกกล่าวถึงทั่วไปบนพื้นที่สื่ออันสืบเนื่องจากปัญหาที่มีสาเหตุจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ จนเกิดคำที่ได้ยินกันมาอย่างช้านานอย่างเช่น “ภาวะโลกร้อน” รวมทั้งปัญหาทางสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ สาเหตุหนึ่งนั้นเนื่องมาจากปัญหาการแยกขยะซึ่งยังไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควรจากผู้คนทั่วไป ถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามรณรงค์ผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นิสิตจากวิชาเอกนาฏศิลป์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เกิดการจุดประกายแนวคิดนำไปสู่การออกแบบการแสดงชุด “Waste a Minute ก่อนใช้ต้องคิด ก่อนทิ้งต้องแยก” เพื่อสื่อสารแนวคิดและสร้างองค์ความรู้ด้านการคัดแยกขยะผ่านศิลปะการแสดงจากชุดการแสดงดังกล่าว ซึ่งเป็นกิจกรรมของนิสิตภายใต้โครงการพัฒนาทักษะและศักยภาพทางด้านนาฏศิลป์สากล ประจำปีการศึกษา 2562

ดร.ดาริณี ชำนาญหมอ ประธานโครงการพัฒนาทักษะและศักยภาพทางด้านนาฏศิลป์สากล หัวหน้าสาขาวิชานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า โครงการนี้มีการชี้วัดความสำเร็จของตัวนิสิตด้วยประสิทธิผลของงานการแสดงนาฏศิลป์สากล ที่นิสิตสร้างสรรค์ขึ้นเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการคิดการออกแบบผลงาน การหาทุนสนับสนุน การประชาสัมพันธ์ การฝึกซ้อม และการจัดแสดง โดยประโยชน์ที่นิสิตได้รับ คือประสบการณ์ตรงในการทำงานด้านการแสดงสด และการทำงานร่วมกับผู้อื่น นิสิตต้องจัดสรรและบริหารเวลานอกชั้นเรียนเพื่อฝึกซ้อมและเตรียมงานซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน

อาจารย์ ดร.ดาริณี กล่าวเสริมว่า เป้าหมายโครงการในปีต่อไปคือการเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง ไม่เพียงแค่ภายในรั้ว มศว นอกจากนั้นอยากให้นิสิตออกแบบผลงานในหัวข้อที่ให้แง่คิดและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เนื่องจากปีนี้ผลงานเรื่อง Waste a Minute ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการแยกขยะ ถือเป็นการใช้บทบาทของนาฏศิลป์สร้างสรรค์สื่อสารแนวคิดที่เป็นประโยชน์และเข้าถึงผู้ชมได้เป็นอย่างดี

นางสาวสุวษินี รักซ้อน หรือ น้องเนส นิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เจ้าของแนวคิดจากการแสดงชุด “Waste a Minute ก่อนใช้ต้องคิด ก่อนทิ้งต้องแยก” เปิดเผยว่า การแสดงชุดนี้มาจากการที่เล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการคัดแยกขยะในปัจจุบันที่ถูกกล่าวถึงในสื่อ แสดงให้เห็นว่าผู้คนทั่วไปยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องวิธีการแยกขยะจนทำให้เกิดปัญหาตามมาในทุกแหล่งไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางบก แม้กระทั่งการฝังกลบก็ยังส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ จึงคิดนำวิทยาการด้านศิลปะการแสดงมาใช้เพื่อเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่สร้างความเข้าใจดังกล่าวด้วยโจทย์และความท้าทายที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ชมสามารถเข้าใจสภาพปัญหาและวิธีการแยกขยะอย่างถ่องแท้ด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และท่วงท่าการแสดงที่ต้องสามารถสื่อความหมายได้ โดยผู้แสดงจะต้องสวมบทเป็นขยะแต่ละประเภทที่ออกมาสั่งสอนผู้ชม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ไม่น้อยไปกว่าสถานที่การแสดงที่ไม่ใช่โรงละคร หรือหอประชุมที่มีเวที หากแต่เป็นอาคารกิจกรรมนิสิตซึ่งเป็นสถานที่โล่งกว้าง ไม่มีพื้นที่ซ่อนฉากหรืออุปกรณ์การแสดง หรือพื้นที่ให้นักแสดงได้หยุดพัก เพราะฉะนั้นนักแสดงทุกคนต้องอยู่กับบทบาทของตนเองตลอดช่วงการแสดง

น้องเนสยังกล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่การแสดงชุด Waste a Minute ก่อนใช้ต้องคิด ก่อนทิ้งต้องแยก ได้นำเสนอไป ยังมีประเด็นทางสังคมอีกมากที่ปรากฏให้เห็นทั่วไป ซึ่งหลายประเด็นที่ยังขาดคนที่กล้าพอจะตั้งคำถามหรือหาทางออก แต่ศิลปะการแสดงในรูปแบบนาฏศิลป์สากลนี้จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถใช้ตีแผ่ หรือจุดประกายให้ผู้ชมได้ฉุกคิดและนำไปสู่วิถีปฏิบัติที่ช่วยพัฒนาสังคมที่ยังยืนต่อไป

สำหรับโครงการพัฒนาทักษะและศักยภาพทางด้านนาฏศิลป์สากล เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา Dance Production เพื่อให้นิสิตในรายวิชานี้ ได้แสดงความรู้และความสามารถในการพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏศิลป์สากล อีกทั้งเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ ทักษะ ความสามารถและการเรียนรู้การพัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้การวางแผน การประเมินและการทำงานร่วมกัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้นิสิตนำผลงานสร้างสรรค์เสนอสู่สาธารณชน สอดคล้องกับปรัชญาของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คือ “ศิลปกรรมสรรค์สร้างปัญญา ปัญญาสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต”