ดร.กนกวรรณ​ วิลาวัลย์​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจราชการ​ ณ กศน. จ.สงขลา

ดร.กนกวรรณ​ วิลาวัลย์​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ พร้อมด้วยผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจราชการ​ ณ กศน. ตำบลท่าประดู่​  อ.นาทวี จ.สงขลา​ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ที่จังหวัดนราธิวาส​โดยมี ดร ดิศกุล​ เกษมสวัสดิ์​ เลขาธิการ​ กศน. พร้อมด้วย​ นายธนกร​ เกื้อกูล​ ผู้อำนวยการสำนักงาน​ กศน. จังหวัดสงขลา​ ผู้บริหาร​ บุคลากรและนักศึกษา​ กศน. ให้การต้อนรับ โอกาสนี้​ รมช.กนกวรรณ เน้นย้ำทีมกระทรวงศึกษาธิการ​ ทุกสังกัดต้องร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้แต่คนเดียว

ทั้งนี้​ ในการตรวจเยี่ยม การดำเนินงานจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ​ กศน.ตำบลท่าประดู่​ แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวชุมชน กิจกรรมที่ตรวจเยี่ยมประกอบด้วย​ ศูนย์ฝึกอาชีพการทำข้าวซ้อมมือ​ โดยกลุ่มผู้สูงอายุตำบลท่าประดู่​ การสาธิตหลักสูตรชาชัก​โดยศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนปัตตานี​ ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรธรรมชาติ โดยเครือข่ายกำนันตำบลท่าประดู่​และ​ กศน.อำเภอนาทวี​ การส่งเสริมอาชีพและศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ oocc การจัดการศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจำลองการจัดการศึกษาและวิถีชีวิตในสถาบันศึกษาปอเนาะ การส่งเสริมการอ่าน ฐานการเรียนรู้ต่างๆ​ อาทิ​ ฐานการแปรรูปโดยใช้พลังงานทดแทน ฐานการเรียนรู้ ICT ฐานการเลี้ยงปลาและการเลี้ยงหอยขม​ ฐานการเลี้ยงโคขุน​ และฐานการเรียนรู้เกษตรธรรมชาติ ด้านการขยายพันธุ์พืช

ดร.กนกวรรณ​ กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมกิจกรรมดังกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี เมื่อคราวตรวจราชการและติดตามการจัดการศึกษาตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการให้แก่สถานศึกษาล่วงหน้า เมื่อเร็วๆนี้ ตนมีความตั้งใจลงพื้นที่ติดตามข้อมูลการจัดการศึกษาในกลุ่มโซนพื้นที่ภาคใต้ชายแดนในจังหวัดสงขลาเพิ่มเติม​  ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ในวันรุ่งขึ้น​ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อนด้านการศึกษาเพื่อเตรียมคนไทยทุกช่วงวัยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพ โดยกำหนดนโยบายในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เร่งพัฒนาปรับปรุงสื่อนิทรรศการ และกิจกรรม โดยประสานความร่วมมือกับ เครือข่ายพันธมิตร 4 แห่ง ประกอบด้วย  อพวช. สวทช.  SEAMEO STEM – ED และ SEAMEO SEPS ที่มีบทบาทสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ดำเนินการความร่วมมือในรูปแบบ Good​Partnership เพื่อร่วมพัฒนารูปแบบการเรียน การจัดกิจกรรม การศึกษาวิจัยที่จะช่วยวางรากฐานในด้านวิธีคิด วิธีการเรียนรู้ พฤติกรรม และการนำองค์ความรู้ไปใช้ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป รวมทั้งให้ทุกจังหวัดในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้เร่งดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ จาก OOCC (ONIE Online Commerce Centre) ที่โดดเด่น 100 ผลิตภัณฑ์  เพื่อเข้าคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OOCC ที่โดดเด่นของประเทศ และให้สำรวจสถานีบริการน้ำมัน ที่อยู่ในพื้นที่ว่าแห่งใดมีทำเลที่เหมาะสมต่อการนำผลิตภัณฑ์ OOCC ไปวางจำหน่ายเพื่อเพิ่มและขยายช่องทางการจำหน่ายและสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ จชต. ต่อไป

ส่วนการสอบครูผู้ช่วยในพื้นที่ จชต.กรณีไม่มีใบประกอบวิชาชีพและกรณีปฏิบัติงานไม่ครบ 3 ปี สามารถสมัครสอบตามอัตราที่กำหนดได้หรือไม่นั้น ตนมีความตั้งใจและมุ่งมั่นส่งเสริมให้บุคลากร กศน.ก้าวไปสู่ความมั่นคงในอาชีพในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างจริงจัง โดยได้กำหนดให้มีการสอบครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงาน กศน. จำนวน 396 อัตรา และให้มีการปรับหลักเกณฑ์และคุณสมบัติให้สอดคล้องกับผู้ปฏิบัติงาน กศน.มากขึ้น  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงานราชการ ครูอัตราจ้าง และบุคลากรของ กศน. ให้ได้รับโอกาสในการเข้ารับราชการ รวมถึงจะทำให้ กศน.มีข้าราชการประจำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ยังให้เร่งจัดตั้งอัตรากำลังข้าราชการครูให้แก่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา​ เพื่อประโยชน์ในการให้บริการด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แก่ประชาชน  ส่วนปัญหาที่สะสมมานาน ตนพยายามทลายทุกข้อจำกัดในหลายๆด้าน เช่น การจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆเพื่อการจัดการศึกษา​ ก็ให้เร่งดำเนินการปรับแก้ กฎ ระเบียบ กฎหมาย ที่เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในเรื่องการเงินและพัสดุ เพื่อแก้ปัญหาการซื้อครุภัณฑ์ การปรับปรุงซ่อมแซม การจัดการศึกษาอาชีพ การซื้อวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของผู้เรียนให้สามารถดำเนินการได้ตามความต้องการของผู้เรียน และแก้ปัญหาได้ทันความต้องการ  โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ประสบสาธารณภัยเป็นประจำ อาทิ วาตภัย อุทกภัย ทำให้สถานศึกษาเสียหายและประสบปัญหาในเรื่องเบิกจ่ายดังกล่าว ในด้านของหลักสูตรการเรียนการสอนก็ได้สั่งการให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ให้มีความทันสมัย เพื่อแก้ปัญหาจำนวนวิชาที่มากเกินความจำเป็น จำนวนวิชาที่ซ้ำซ้อน จำนวนเวลาเรียนที่มากหรือน้อยเกินไป รวมถึงวิธีวัดและประเมินผล สำหรับกลุ่มเป้าหมายการศึกษานอกระบบโรงเรียน เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการลงพื้นที่ในหลายจังหวัด พบว่าประชาชนมีความต้องการเรียนหลักสูตรอาชีพระยะสั้นเป็นจำนวนมาก จึงมอบให้เร่งพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น การสอนภาษาเพื่อพัฒนาอาชีพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้จัดสอนหลักสูตรภาษายาวี มลายู ตามความต้องการของพื้นที่ ส่วนจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น จังหวัดพิษณุโลกที่อนุรักษ์อาชีพสามล้อถีบ รับนักท่องเที่ยวต้องการให้จัดสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส รวมทั้งกรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เตรียมการจัดหลักสูตรอาชีพบริการนักท่องเที่ยว การจัดการโรงแรม โดยร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในโอกาสต่อไป