วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) ร่วมการเสวนาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เรื่อง Big Data กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ โศภณ นภาธร) เปิดการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมมอบนโยบายด้านการศึกษา มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นวิทยากร ณ ห้อง OEC Data Center อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหน่วยงานเชิงนโยบายที่สำคัญด้านการศึกษา มีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งการตัดสินใจเชิงนโยบายจำเป็นต้องมีการนำข้อมูล (Data) เข้ามาวิเคราะห์ ปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการเห็นถึงความสำคัญและพร้อมที่จะใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ในการทำงานด้านการศึกษา เพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ โศภณ นภาธร กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้มีข้อมูลที่ถูกต้องและอยู่บนข้อเท็จจริง สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศ สำหรับปัจจุบันข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีอยู่จำนวนมาก แต่ข้อมูลกระจัดกระจาย และขาดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานหลักทั้ง ๕ องค์กร ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ข้อมูลได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโจทย์ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทราบสำหรับการจัดหาข้อมูลมารองรับ คือ ๑) เด็กได้รับการศึกษาที่ครอบคลุมขนาดไหน เพื่อนำข้อมูลมาช่วยในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ ๒) การผลิตบัณฑิตและอาชีวะตรงกับความต้องการของประเทศอย่างไร เพื่อตอบสนองต่อการผลิตและพัฒนาให้สอดคล้องกับกำลังคนในตลาดแรงงาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง กล่าวว่า การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลควรมีข้อมูล (data) ที่เชื่อมโยง (linked) กับข้อมูลส่วนต่างๆ ที่สำคัญในการตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานได้ กระทรวงศึกษาธิการควรตอบคำถามพื้นฐานของการศึกษา นำข้อมูลมาวิเคราะห์และวิจัย และตั้งคำถามในระยะยาว ซึ่งจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในอนาคต โดยข้อมูลที่กระทรวงศึกษาธิการมีอยู่ คือ ข้อมูลเด็กรายบุคคล ข้อมูลคะแนนทดสอบของเด็กรายบุคคล ข้อมูลครูรายบุคคล และข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละโรงเรียน เป็นต้น
สำหรับ ภารกิจด้านข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการควรรวบรวมข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลในระบบฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ พัฒนาระบบการนำเสนอข้อมูลอย่างง่ายเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน เชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่ให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้สะดวก พัฒนาระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาเพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนควรเชื่อมโยงข้อมูลด้านการศึกษากับข้อมูลด้านภาษีของประเทศ (Tax records) และข้อมูลประกันสังคม (Social Security records) เช่น การเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลเด็กรายบุคคล ครูผู้สอน และคะแนนทดสอบของเด็กรายบุคคล เพื่อนำมาตอบคำถามเกี่ยวกับคุณภาพครูมีผลต่อการเรียนของเด็กหรือไม่ เป็นต้น
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สกศ.