สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : ขมิ้นชัน ดูแลสำไล้ ป้องกันมะเร็ง

ขมิ้นชันน่าจะเป็นสมุนไพรประจำคนตระกูลไทยโดยแท้ เพราะไม่ว่าจะเป็นไทยน้อยอย่างเรา ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ลาว ไทยแดง ไทยดำ ไทยในรัฐอัสสัมของอินเดีย ก็เรียกขมิ้นหรือเข้ามิ่นเหมือนกัน

มาร์โคโปโล นักเดินทางค้าขายชาวอิตาลีไปเจอขมิ้นชันครั้งแรกในจีนเมื่อเจ็ดร้อยกว่าปีก่อน คนจีนไม่นิยมกินขมิ้นเป็นเครื่องเทศหรือเป็นอาหาร แต่ในจีนตอนใต้มีการกินขมิ้นเป็นผัก และใช้เป็นสีผสมอาหารเหมือนหญ้าฝรั่น หรือว่าแถวนั้นจะเป็นถิ่นของคนตระกูลไทยลื้อแถบสิบสองปันนา เพราะมีแต่คนตระกูลไทยเท่านั้นที่ใช้ขมิ้นในวิถีชีวิตอย่างหลากหลาย ใช้เป็นเครื่องเทศ ยา เครื่องสำอาง สีแต่งอาหารและย้อมเสื้อผ้า

คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่า กินขมิ้นชันแล้วจะไม่แก่ กินแล้วผิวสวย เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยปรับธาตุ ช่วยย่อย บำรุงตับ บำรุงดี บำรุงเลือดลมให้ไหลเวียนดี ทำให้เลือดสะอาดบริบูรณ์ ขับเลือดเสีย ช่วยบำรุงเอ็นให้เส้นเอ็นโล่ง แก้อาการเส้นเอ็นตายเพราะลมเดินไม่สะดวก ดังนั้นจึงเปรียบขมิ้นดั่งทองคำ การกินข้าวหุงขมิ้น จึงเรียกว่า กินข้าวคำ มีนิทานเล่าเรื่องชายหนุ่มเดินทางไปยังเมืองลับแลเพื่อเอาทองคำกลับมา แต่พอมาถึงบ้านกลับกลายเป็นขมิ้นไป

งานวิจัยสมัยใหม่พบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านอักเสบ ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ รักษาเข่าเสื่อม ลดการทำลายของเซลต่างๆ จากโรคเบาหวาน จึง สมกับที่เป็นทองคำแห่งสุขภาพจริงๆ

และได้มามีการศึกษาฤทธิ์ของขมิ้นชันในการใช้ป้องกันและรักษามะเร็งพบว่า ขมิ้นชันมีสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็ง ป้องกันการดูดซึมสารนี้ และป้องกันไม่ให้สารก่อมะเร็งทำปฏิกิริยากับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (ซึ่งจะป้องกันมิให้เกิดการกลายพันธุ์และการทำลายดีเอ็นเอ) นอกจากนี้ยังเพิ่มระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสารก่อมะเร็งออกจากร่างกาย และยับยั้งไม่ให้เซลที่ได้รับสารก่อมะเร็งกลายเป็นเซลมะเร็ง มีการศึกษาการใช้ขมิ้นในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่พบว่ามีแนวโน้มที่ดี

ขมิ้นชันเป็นอาหารและเครื่องเทศอยู่แล้ว หากจะกินเป็นประจำก็ไม่มีปัญหา เพราะแม้แต่สภาพฤกษศาสตร์ของอเมริกา (The American Botanical Council ) ยังแนะนำว่า ไม่เหตุผลอะไรเลยที่จะไม่กินขมิ้นชันขนาดพอประมาณ (เช่น 1-2 กรัม) ทุกวัน ยกเว้นผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ตั้งครรภ์ หรือเป็นนิ่วในถุงน้ำดี

การใช้ขมิ้นชันในโรคต่างๆ

โรคปากเป็นแผล จะเอาขมิ้นชันมาฝาน ต้มอมบ้วนปาก รักษาแผลในปาก เหงือกเป็นแผล

ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จะเอาหัวขมิ้นชันกับเกลือมาคั่วให้สุก  จากนั้นเอาน้ำอุ่นมาผสมแล้วดื่มกิน หรือต้ม นึ่ง  ตากแห้งตำผงไว้ใส่ในอาหารกินเป็นประจำ หรือเอาหัวขมิ้น หัวไพล ตำกับเกลือกินก็ได้

โรคกระเพาะ แม้ชาวบ้านทั่วไปจะไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง  แต่เมื่อไหร่ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง อิ่มก็ปวด หิวก็ปวด จะใช้ขมิ้นตำคั้นน้ำกิน หรือใช้ขมิ้นสดหรือแห้งผสมกับเกลือ หรือทำเป็นยาตำรับผสมกับสมุนไพรตัวอื่น เช่น ไพล ชะเอมเทศ เทียนทั้งห้า โดยกินอย่างต่อเนื่องเป็นเดือน

โรคลำไส้อักเสบ หรือ IBD ชาวบ้านทั่วไปไม่รู้จักโรคนี้ แต่ถ้าหากมีอาการท้องอืดท้องบวม ปวดเกร็งท้องบริเวณท้องน้อย แน่นท้อง ท้องอืด หน้าท้องโตขึ้นเหมือนมีลมในท้อง อาจเรอหรือผายลมมากขึ้น อุจจาระไม่ปกติ เบื่ออาหาร ชาวบ้านจะนำผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งชงกับน้ำอุ่นดื่มวันละ 3-4 ครั้ง กินติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน หรือเอาขมิ้นคั่วกับเกลือกินเช่นเดียวกับการรักษาอาการท้องอืด

โรคริดสีดวงทวาร มีแผลที่ไหนขมิ้นต้องไปที่นั่น แม้แต่แผลที่ทวารหนัก จะใช้ผงขมิ้นตัวเดียวหรือผสมกับผงรากกระเม็งหรือผงของผลบวบแห้งอย่างละเท่าๆ กัน ทาหัวริดสีดวงที่มีเลือดออก ส่วนยากินจะใช้มะขามป้อมและขมิ้นชันอย่างละเท่าๆ กัน ผสมกับน้ำผึ้งกิน