ชป.เดินหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกมิติ

วันที่ 19 มกราคม 2563 นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง โดยมี นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลสั่งการให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลหนองตรุด ตำบลนาโต๊ะหมิง และตำบลบางรัก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำตรัง ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาอุทกภัย สร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรในเขตชุมชนเมืองและพื้นที่ข้างเคียง เป็นประจำเกือบทุกปี

ปัจจุบัน กรมชลประทานได้เข้าดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเอง โดยในปีงบประมาณ 2563 จะเร่งรัดดำเนินการงานคลองผันน้ำ ความยาวคลอง 6.55 กิโลเมตร ความกว้างท้องคลอง 102 เมตร ความลึกคลอง 4.50 เมตร งานประตูระบายน้ำหนองตรุด ขนาด 8 x 6.50 เมตร บานประตู จำนวน 10 ช่อง อัตราการระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที งานสะพานรถยนต์ กม.6+165 และ กม.7+425 และงานอาคารประกอบ จำนวน 12 แห่ง  ซึ่งเชื่อว่าในปี พ.ศ.2563 จะสามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยได้เป็นอย่างดี

และเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ของ ตำบลหนองตรุด ตำบลนาโต๊ะหมิง และตำบลบางรักในเขตอำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์จากโครงการฯ ในช่วงฤดูฝนกว่า 10,000 ไร่ และฤดูแล้งอีกกว่า 3,000 ไร่ อีกทั้งในช่วงฤดูแล้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลักดันการรุกตัวของน้ำเค็ม เพื่อรักษาระบบนิเวศ และช่วยผลิตน้ำประปาได้ปีละประมาณ 1.74 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายประพิศ กล่าวต่อว่า กรมชลประทานจะเร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเพื่อให้สามารถผันน้ำได้ในปี 2563 นี้ โดยเน้นย้ำให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11  ดำเนินการก่อสร้างโครงการให้เป็นไปตามกฎระเบียบและหลักวิศวกรรม เกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่ อีกทั้ง สร้างความรับรู้กับประชาชนและดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพื่อให้โครงการดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างสูงสุด

…………………………………………..