ชป. เปิดศูนย์ฯบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2563 ลุ่มน้ำน่าน ช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้งภาคเหนือตอนล่าง

สำนักงานชลประทานที่ 3 เปิดศูนย์ป้องกันและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2563 ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง(อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์) ย้ำปริมาณน้ำมีจำกัดเน้นส่งน้ำเฉพาะอการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ตลอดจนส่งน้ำไปช่วยไล่ผลักดันความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังได้รับรายงานจากนายเกรียงไกร ภาคพิเศษผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 3 ที่ประกอบไปด้วย 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติต่างๆ มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย และมีแนวโน้มว่ารุนแรงใกล้เคียงกับปี 2558/59 เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่กำลังรุกลามในหลายพื้นที่อยู่ในขณะนี้ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2563 สำนักงานชลประทานที่ 3 ขึ้น ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง โดยเกษตรกรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถแจ้งปัญหาความเดือดร้อน รวมทั้งสามารถขอคำปรึกษา ปัญหาเรื่องน้ำ ได้ที่ศูนย์ฯแห่งนี้ หรือโครงการชลประทานที่อยู่ใกล้กับภูมิลำเนาได้ตลอดเวลา

สำหรับสำนักงานชลประทานที่ 3 มีขอบเขตในการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านตั้งแต่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ เรื่อยมาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ รวมไปถึงในพื้นที่ลุ่มน้ำยมบางส่วนตั้งแต่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ถึงจุดจบกับแม่น้ำน่าน ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และบางส่วนของแม่น้ำปิง ตั้งแต่ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากปีนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัดมีน้ำต้นทุนเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค (น้ำกิน,น้ำใช้) และการรักษาระบบนิเวศ (ผลักดันน้ำเค็ม,เจือจางน้ำเสีย) เท่านั้น จึงไม่เพียงพอสำหรับภาคการเกษตร (ยกเว้นเกษตรต่อเนื่อง เช่น ไม้ผล และไม้ยืนต้นต่างๆ) ทั้งยังต้องสำรองน้ำต้นทุนบางส่วนสำหรับไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง

“กรมชลประทาน จำเป็นต้องมีการปรับแผนการระบายน้ำตามความเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้น้ำได้จนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า จึงมีมาตรการต่างๆ เช่น ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับราษฎร/เกษตรกร โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพภาคที่ 3 การปกครององค์กรส่วนท้องถิ่น และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต อย่างต่อเนื่อง และมีการหยุดการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานในพื้นที่รับผิดชอบ ประมาณ 1,300,000 ไร่ เพื่อลำเลียงน้ำสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ช่วยลดผลกระทบเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำประปาและเจือจางน้ำเค็ม” ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าว

ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ชลประทานบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ เพื่อเตรียมการให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องจักร และเครื่องมือต่างๆ สำหรับการขุดลอกชักน้ำในบริเวณที่มีแหล่งน้ำ และรถบรรทุกน้ำ เพื่อแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือแจ้งไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งปี 2563 ของสำนักงานชลประทานที่ 3 ได้ตลอดเวลา

…………………………………………………..

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

17 มกราคม 2563