กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโปรแกรม Long Term Care (3C) รูปแบบสมุดบันทึกสุขภาพดิจิทัลเพื่อดูแลผู้สูงอายุ หวังพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว
วันที่ 16 มกราคม 2563 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรแกนนำระดับศูนย์อนามัยและพื้นที่ในการใช้โปรแกรม Long Term Care (3C) และชี้แจงการใช้สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุผ่าน Blockchain ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ปี 2559 รัฐบาลมีนโยบายจัดระบบการดูแลระยะยาว (Long Term Care) เพื่อพัฒนาระบบการดูแลในระดับตำบล กระทรวงสาธารณสุขจึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริการด้านผู้สูงอายุ โดยการพัฒนาระบบโปรแกรม 3C ภายใต้โครงการการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) เพื่อสนับสนุนครอบครัวให้มีศักยภาพในการดูแลตนเองเพิ่มขึ้นและเอื้อให้ญาติผู้สูงอายุได้ดูแลกันเองในบ้านและในชุมชน โดยเป้าประสงค์ของการพัฒนา คือ 1) ผู้สูงอายุได้รับ คัดกรอง และมีระบบส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ฟื้นฟูและการดูแลระดับความจำเป็นระยะยาว ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี 2) ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อป้องกันการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง และ 3) มีระบบการเงิน การคลัง ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่ครบวงจร
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ร่วมกันพัฒนาระบบโปรแกรม 3C ซึ่งเป็นรูปแบบสมุดบันทึกสุขภาพดิจิทัลเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยประกอบด้วยข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ผ่านการอบรม Care Manager Care Giver อาสาบริบาลท้องถิ่น การขึ้นทะเบียน ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรฟื้นฟู Care Manager Care Giver การจัดทำ Care Plan การประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) การรายงานตัวชี้วัด และระบบข้อมูลด้านการเปลี่ยนกลุ่มของผู้สูงอายุ จากกลุ่มติดเตียงเป็นกลุ่มติดบ้าน และจากกลุ่มติดบ้านเป็นกลุ่มติดสังคม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัลเป็นการนำเนื้อหาสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กของกรมอนามัย สมุดผู้พิการ และโภชนาการอาหาร มารวมใน 1 mobile application ให้เสมือนเป็นห้องบันทึกสุขภาพประชาชนซึ่งเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งมีข้อดีคือ 1) ประชาชนเข้าใจปัจจัยกำหนดสุขภาพและมีข้อมูลด้านสุขภาพติดตัวบนระบบ Android 2) เกิดระบบข้อมูลสุขภาพของบุคคลในครอบครัวส่งผลต่อการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวด้วยกันเองแล้วก่อให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) 3) ระบบการส่งต่อข้อมูลสุขภาพระหว่างกลุ่มวัยผ่านระบบโปรแกรมที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและการส่งต่อข้อมูลสุขภาพของประชาชนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และ 4) ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตสมุดบันทึกสุขภาพในแต่ละปี
“ทั้งนี้ การพัฒนาสมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัล กรมอนามัยได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับกรมอนามัยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้มีเนื้อหาถูกต้องตามหลักวิชาการและเกิดการขยายผลการใช้สมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัลในระดับพื้นที่ พร้อมมีแผนขยายผลในระยะต่อไป คือ 1) เพิ่มสมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย เช่น สมุดแบบบันทึกการตรวจสุขภาพด้วยตนเองสำหรับนักเรียน ป.5-ป.6 สมุดแบบบันทึกการตรวจสุขภาพด้วยตนเองสำหรับนักเรียน ม.1 – ม.6 2) เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ วัคซีนในกลุ่มวัย หรือแยกเป็นสมุดวัคซีน เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ 3) ขยายผลการใช้สมุดบันทึกสุขภาพแบบดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ทุกหน่วยบริการทุกระดับ ทั้งภาครัฐ เอกชน และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 16 มกราคม 2563