อนุทิน เก็บดอกกัญชาสายพันธุ์ไทยระดับอุตสาหกรรม

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชาสายพันธุ์ไทยระดับอุตสาหกรรมช่อดอกแรก ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้องค์การเภสัชกรรมผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ใช้ศึกษาวิจัยและรักษาในคลินิกกัญชา พร้อมปลูกกัญชาแบบกลางแจ้ง เป็นต้นแบบการปลูกในระดับครัวเรือน

วันที่ 15 มกราคม 2563 ที่จ.เชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ รศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันเก็บเกี่ยวดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยช่อดอกแรก พร้อมปลูกกัญชาเพื่อศึกษาวิจัยการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) เป็นต้นแบบใช้ทางการแพทย์ในระดับครัวเรือน ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์องค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยแม่โจ้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยที่ปลูกระดับอุตสาหกรรมในโรงเรือน (Indoor) แห่งแรกของอาเซียนจำนวน 12,000 ต้น ปลูกเมื่อเดือนกันยายน 2562 ซึ่งได้ทยอยเจริญเติบโตสมบรูณ์เต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว คาดว่าจะได้ช่อดอกกัญชาแห้ง 1,000 กิโลกรัม ซึ่งมีสารสำคัญ THC และ CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด ส่งให้องค์การเภสัชกรรมสกัดเป็นยาสารสกัดกัญชา ให้กรมการแพทย์นำไปศึกษาวิจัยในกลุ่มโรคต่างๆ และใช้ในคลินิกกัญชาในสถานพยาบาลของรัฐ และวันนี้ยังได้เริ่มปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) ให้เป็นต้นแบบการปลูกกัญชากลางแจ้งเพื่อใช้ทางการแพทย์ระดับครัวเรือน เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ได้

“นับเป็นครั้งแรกที่ไทยนำกัญชาสายพันธุ์ไทยมาผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันแบบเมดิคัลเกรด เป็นการพัฒนาและยกระดับกัญชาสายพันธุ์ไทย ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ พึ่งพาตนเองและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นผลสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน” นายอนุทินกล่าว

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ช่อดอกกัญชาแห้งที่ปลูกโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตขององค์การเภสัชกรรม ถูกจัดส่งตามแนวทางมาตรฐานการขนส่งที่ดี หรือจีดีพี (GDP -Good Distribution Practice) และมาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี หรือจีเอสพี (GSP -Good Security Practice) มีการทวนสอบกลับได้ ตั้งแต่ปลายทางจนถึงต้นทาง ทั้งปริมาณ สภาพแวดล้อม การควบคุมอุณหภูมิ ระบบความปลอดภัยระหว่างการขนส่ง มีระบบการบันทึกเพื่อให้มั่นใจว่าตลอดเส้นทางที่ขนส่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อรักษาคุณภาพของวัตถุดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจวิเคราะห์และผลิตต่อไป

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ดอกกัญชาแห้งที่เก็บเกี่ยวครั้งนี้จะผลิตเป็นสารสกัดกัญชาแบบหยดใต้ลิ้น มีอัตราส่วน THC ต่อ CBD เป็น 1 ต่อ 1 บรรจุขวดขนาด 5 ซีซี ได้ประมาณ 180,000 ขวด และจะประสานกับกรมการแพทย์เพื่อผลิตในปริมาณสัดส่วนของสารสำคัญตามความต้องการใช้กับผู้ป่วยและการศึกษาวิจัย ด้วยกระบวนการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อให้ผู้สั่งใช้มีความมั่นใจ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จะนำผลิตภัณฑ์กัญชาตาม มาตรฐานทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามแนวปฏิบัติทางคลินิกที่ดี หรือจีซีพี (GCP-Good Clinical Practice) รวมถึงการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น รวมทั้งใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง นอกจากนี้ ได้วางแผนร่วมกับองค์การเภสัชกรรมและหน่วยงานต่างๆ ในการสกัดให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาชนิด CBD เด่น เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก และโรคที่จำเป็นต้องใช้ CBD ในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโรคอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เกิดประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย