สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคุกคามในหลายพื้นที่ กรมชลประทาน เร่งเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ หวังบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ พร้อมวอนทุกฝ่ายต้องช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง เหตุน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดน้อยลงทุกวัน
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ไม่มีแหล่งน้ำสำรองหรือแหล่งน้ำต้นทุน ส่วนพื้นที่ในเขตชลประทาน แม้จะมีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำ หรือระบบชลประทานต่างๆ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรุดกุม พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือสำหรับให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อาทิ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์รับร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำศูนย์ย่อยประตูระบายน้ำดอยน้อย อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่พร้อมตรวจสอบความพร้อมการสำรองเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 2 ชุด และรถบรรทุกน้ำ ขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 2 คัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับช่วยเหลือประชาชน และเกษตรกรหากเกิดภัยแล้งในพื้นที่
ด้านนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 62/63 สำนักเครื่องจักรกล กล่าวว่า ได้ดำเนินการเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำแบบจุ่มขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Submersible pump) ขนาด 3.0 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง บริเวณสถานีสูบน้ำบางบัวทอง ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ทำการผันน้ำที่ส่งมาจากแม่น้ำแม่กลอง ผ่านแม่น้ำท่าจีน มายังคลองจระเข้สามพัน คลองบางบัวทอง และแม่น้ำเจ้าพระยาตามลำดับ ส่วนบริเวณคลองพระพิมลราชา ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ขนาด 1.3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง ช่วยเพิ่มอัตราการไหลของน้ำในคลองพระพิมล ก่อนระบายลงส่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปทางตอนบน
ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเริ่มทรงตัว มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะการใช้น้ำสำหรับการผลิตน้ำประปา เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในอนาคตด้วย
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SOWC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์