เลขาสพฉ.ร่วมถอดบทเรียนการให้ความช่วยเหลือทีมหมู่ป่า

เลขาสพฉ.ร่วมถอดบทเรียนการให้ความช่วยเหลือทีมหมู่ป่า ระบุความร่วมมือของทุกฝ่ายทำให้การช่วยเหลือเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมยกผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ทีมีประสิทธิภาพสามารถควบคุมสถานการณ์และบัญชาการเหตุการณ์ พร้อมทั้งจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าได้ พร้อมเสนอให้มีการฝึกอบรมผู้นำจังหวัดให้พร้อมเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์หากเกิดเหตุการณ์วิกฤตได้

จากกรณีที่เยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมี่ พร้อมผู้ช่วยผู้ฝึกสอน จำนวน 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ล่าสุดวันนี้เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ถอดบทเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยระบุว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับครอบครัวของทั้ง 13 ท่านที่เจ้าหน้าที่พบตัวแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการนำเด็กๆ เหล่านี้ออกมาจากถ้ำ โดย สพฉ.เองได้เตรียมความพร้อมตลอดเวลาหากได้รับการประสานหรือร้องขอการสนับสนุนการช่วยเหลือเราก็พร้อมทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประสานงานกับองค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสุนการเข้าช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้กับผู้ประสบเหตุทั้ง 13 คนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตามหากเราจะมองเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า ตนมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เราสามารถที่จะนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาการช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุจากการเกิดภัยพิบัติในลักษณะแบบนี้ได้ ตนอยากให้นำวิกฤตมาเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบการให้การช่วยเหลือของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์อื่นๆ ต่อไปในอนาคตได้

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีการทำงานของเจ้าหน้าที่หลายส่วนที่หากนำมาถอดบทเรียนแล้วจะเห็นถึงความสมบูรณ์และการเตรียมความพร้อมที่แม่นยำในการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ 1คือการบริหารระบบในการให้ความช่วยเหลือเด็กๆทั้งระบบที่นำมาจากแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานและระบบบัญชาการเหตุการณ์ที่ชัดเจน ซึ่งตนมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบนี้คือ ผู้บัญชาการเหตุการณ์นั่นก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่มีวิสัยทัศน์และสามารถควบคุมและสั่งการในเหตุการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตเราอาจจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกผู้นำในแต่ละจังหวัดให้เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในลักษณะนี้ให้ได้ ส่วนที่ 2. คือการปฏิบัติงานภายใต้ระบบการสั่งการในเหตุการณ์ครั้งนี้ยังมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมาก โดยเฉพาะระบบในการเลือกใช้ทรัพยากรบุคคลที่ได้มีการคัดเลือกและร้องขอหน่วยงานที่เข้าทำการช่วยเหลือทุกหน่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นหน่วยซีลที่ถูกเลือกให้เข้ามาให้ช่วยเหลือเด็กในครั้งนี้เพราะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการดำน้ำ และลักษณะของการเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ก็เหมือนกับการเข้าไปช่วยตัวประกัน เพราะเหมือนเด็กๆ ถูกจับกุมและห้อมล้อมด้วยแม่น้ำจนไม่สามารถออกมาจากถ้ำได้ ทั้งนี้ยังมีส่วนการทำงานของผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศกับผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยในหลากหลายสาขาก็มีความน่าสนใจมากไม่แพ้กันว่าการเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านนั้นเราใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเชิญและระบบการทำงานร่วมกันนั้นทำอย่างไรถึงได้การทำงานที่มีประสิทธิภาพออกมาเช่นนี้

เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีเรื่องของการรวมทรัพยากรทั้งภาครัฐ ทหารพลเรือน ภาคประชาชน ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันทำงานอย่างเป็นระบบและสนับสนุนกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่นับรวมเรื่องของการสนับสนุนในส่วนของอุปกรณ์ดำน้ำและแนวทางในการช่วยเหลือทางน้ำในครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องถอดบทเรียนกันด้วย เพราะตามปรกติแล้วการดำน้ำทั่วไปจะเป็นการดำน้ำในพื้นที่กว้างแต่การกู้ชีพเด็กๆในครั้งนี้เป็นการดำน้ำในพื้นที่แคบจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเขาทำกันได้อย่างไร และมีระบบดูแลเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การช่วยเหลืออย่างไร เพราะในการดำน้ำปรกติเราก็อาจจะป่วยจากการดำน้ำได้ เท่าที่ตนทราบคือได้มีการจัดเตรียมทีมแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำของกองทัพเรือที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน มีห้องปรับความดันบรรยากาศให้กับทีมดำน้ำเพราะหากเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดำน้ำเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กๆเกิดมีฟองอากาศในเลือดหรือมีอาการผิดปรกติ ก็จะสามารถทำการรักษาทีมได้ทันที นี่คือระบบเซฟตี้ของทีมช่วยเหลือในเหตุการณ์นี้ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนระบบการช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขได้มีหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ดูภาพรวมในเรื่องนี้เพื่อให้การให้บริการในพื้นที่ประสบเหตุเป็นระบบ โดยผู้บัญชาการเหตุการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับเขตสุขภาพจะเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในระดับจังหวัดก็จะเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด โดยทีมที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านสาธารณสุขก็จะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และในบางจังหวัดที่มีทรัพยากรจำกัดก็จะมีทีมแพทย์จากทหารของกองทัพบก กองทัพเรือ หรือจากตำรวจเข้าไปเสริมซึ่งการทำงานร่วมกันตรงนี้ก็น่าสนใจและถอดบทเรียนร่วมกัน ทั้งนี้ภายหลังหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ.2554 ประเทศไทยเราได้มีพัฒนาการในการดำเนินการในลักษณะนี้เยอะขึ้นและเป็นระบบมากขึ้น โดยเราได้มีการสร้างทีมแพทย์ฉุกเฉินตอบโต้สาธารณภัย (Medical Emergency Response Team : MERT) และมินิเมิร์ท (Mini MERT) ซึ่งเป็นทีมแพทย์ฉุกเฉินภาคสนาม โดยขณะนี้เรามีทีม MERT ที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลจังหวัด จังหวัดละ 1 ทีมและมีทีม Mini MERT ระดับอำเภออีก 700 กว่าทีมที่พร้อมจะเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนยามเกิดภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉินทันที

“ในส่วนของการเตรียมการเรื่องการเคลื่อนย้ายเด็กๆ เราจะเห็นภาพการเตรียมการด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งประเทศไทยเราได้มีระบบกายสกายดอกเตอร์ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ผมคิดว่าเรื่องนี้จะมีส่วนทำให้การช่วยเหลือในครั้งนี้มีความพร้อมมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาถอดบทเรียนร่วมกันแล้วทำเป็นต้นแบบในการช่วยเหลือประชาชนคนอื่นๆได้อีกในโอกาสต่อไป”เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะกล่าว