‘พาณิชย์’ หารือสหภาพยุโรปแลกเปลี่ยนความเห็นสถานการณ์การค้าโลก ในการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 13 โดยพร้อมจะร่วมมือผลักดันการปฏิรูปการทำงานของ WTO เพื่อให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี และจะผลักดันการเจรจา WTO รอบโดฮาให้คืบหน้าโดยเร็ว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ เน้นการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน ที่หลายประเทศเริ่มมีการนำมาตรการกีดกันและตอบโต้ทางการค้ามาใช้ระหว่างกันมากขึ้น จนเกิดความตึงเครียดและเสี่ยงต่อการเกิดสงครามการค้า ที่ไทยและสหภาพยุโรปในฐานะสมาชิก WTO จะต้องร่วมมือกันผลักดันการปฏิรูปการทำงานของ WTO เพื่อให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี และให้สมาชิก WTO หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียวแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้า โดยเฉพาะขณะนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าของ WTO ที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องผลักดันให้ WTO แต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่ว่างอยู่ 3 ตำแหน่งให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้องค์กรอุทธรณ์มีสมาชิกครบทั้ง 7 ตำแหน่ง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO เกิดการชะงักงัน โดยเฉพาะระบบระงับข้อพิพาท WTO ถือเป็นที่พึ่งของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา ในการผลักดันให้ประเทศที่แพ้คดีต้องปรับแก้ไขมาตรการและดำเนินการตามผลคำตัดสินของคณะผู้พิจารณาและองค์กรอุทธรณ์ของ WTO
นางอรมน เสริมว่า ฝ่ายไทยยังได้ใช้โอกาสนี้หารือกับสหภาพยุโรปเรื่องการผลักดันการเจรจา WTO รอบโดฮาให้คืบหน้า โดยเฉพาะข้อสั่งการจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่จัดขึ้นที่อาร์เจนตินาในปี 2560 เรื่องการจัดทำกฎระเบียบ WTO เรื่องการอุดหนุนประมง บทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการขนาดย่อยเล็กกลางในการค้าโลก และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับสหภาพยุโรปเรื่องพัฒนาการด้านกฎระเบียบการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่ายในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแผนการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากพืชรวมทั้งน้ำมันปาล์ม ในปี 2573 ของสหภาพยุโรป โดยเหตุผลเรื่องการทำลายป่าไม้และเพิ่มก๊าซเรือนกระจก การออกกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการเตรียมออกกฎระเบียบของสหภาพยุโรปเพื่อจัดเก็บภาษีดิจิทัลกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจกับสหภาพยุโรป ไทยจึงขอให้สหภาพยุโรปจัดหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานและให้ข้อมูลในรายละเอียด เพื่อช่วยให้ฝ่ายไทยเข้าใจสาระสำคัญและแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น ขณะที่สหภาพยุโรปได้ให้ความสนใจและสอบถามไทย เรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความคืบหน้าการจัดทำระบบการส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างอาเซียน การปรับแก้ไขกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิต เป็นต้น ซึ่งสหภาพยุโรปเห็นว่า ไทยมีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการค้าที่ก้าวหน้าขึ้นมาก ทั้งกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายแข่งขันทางการค้า และกฎหมายศุลกากร ที่ช่วยทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนดีขึ้น
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย ปี 2560 มีมูลค่าการค้า 44,302 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 10.39 โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป 23,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 20,602 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และ 13.8 ตามลำดับ ไทยมีสัดส่วนการค้าประมาณร้อยละ 1 ของสหภาพยุโรปเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 18 สัดส่วนร้อยละ 1.2 และเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 29 สัดส่วนร้อยละ 0.8 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ ไก่แปรรูป เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรป ได้แก่ เครื่องจักรกลเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า และอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น
ในปี 2560 สหภาพยุโรปมีการลงทุนในไทยมูลค่าประมาณ 6,575.88 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยมีการลงทุนในสหภาพยุโรปมูลค่าประมาณ 11,622.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีการจัดทำ FTA กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ และได้สรุปการเจรจา FTA กับเวียดนามและสิงคโปร์แล้ว และอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อจัดทำ FTA กับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
———————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์